กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกแถลงการณ์ชี้แจง
นโยบายขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล”
และ “งดซื้อหุ้นคืน” เป็นมาตรการ
ป้องกัน“การ์ดตก” กองทุนไม่ทรุด นโยบายป้องกันเหมือนแบงก์ชาติทั่วโลก
ยอมรับกระทบผู้ถือหุ้นแบงก์ระยะสั้นๆแต่เป็นผลดีสร้างเสถียรภาพทุกฝ่ายระยะยาว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข่าว ในวันนี้ (20 มิ.ย.)
หลังจากมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ประกาศ ธปท. ที่ขอให้ ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย
“เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” โดยส่งให้สื่อมวลชน และ เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ ของ ธปท. https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n3363.aspx
นายวิรไท
สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ระบุว่า การแพร่ระบาดของ โรคโควิด–19
เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่
และจะจบอย่างไร
การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน
ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์
คือ ระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด–19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่
การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7) ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ได้หลากหลายมาตรการ ในระยะข้างหน้าที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง
ดังนั้น จึงไม่ควร “การ์ดตก”
ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน”
เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก”
ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น
“สถานการณ์วันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก
ธนาคารพาณิชย์และงลูกค้าก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม มาตรการล๊อกดาวน์
ลูกค้าอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการเยียวยา
ปรับตัว หรือวางแผนธุรกิจใหม่
ธนาคารพาณิชย์จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและแผนธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน
ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3
ปีข้างหน้าโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก”นายวิรไท ระบุ
ในภาวะปกติ
ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม “เงินปันผลระหว่างกาล”
หรือ interim dividend ส่วนการ”ซื้อหุ้นคืน”นั้น
ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น
หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผน”ซื้อหุ้นคืน”จากผู้ถือหุ้นทั่วไป
ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้
หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง
(การงดการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์นั้น ”ไม่กระทบ”ต่อการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประชาชนตามปกติแต่อย่างใด)
ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า
นโยบายนี้ แม้จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ
แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน
และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง
รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง
มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก
โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ระยะใหม่ๆ
การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของ
ธปท. นอกจากจะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ร่วมตลาดแล้ว
ยังช่วยลดความกังวลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ด้วย
โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการบริหารจัดการแบบระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แจ้งความกังวลให้
ธปท. ทราบว่าผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินอาจจะเข้าใจผิดได้
ถ้าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้
หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง อาจจะถูกเข้าใจผิดไปว่า ธนาคารพาณิชย์มีปัญหาเรื่องฐานะการเงิน
หรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 รุนแรงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ดังนั้น หาก ธปท. ไม่ออกแนวนโยบายกลางให้ชัดเจน
ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เคยจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล”
ก็คงจะต้องจ่ายไปตามปกติ ทั้งที่อยากจะสร้างกันชน
และใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบระมัดระวัง
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุด้วยว่าใครที่ติดตามเรื่องของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินรอบโลกก็คงไม่แปลกใจกับนโยบายเรื่องนี้
โดยธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน
บางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ขอให้งดซื้อหุ้นคืน
และไปไกลถึงขนาดขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย บางประเทศ (เช่น สหภาพยุโรป
และนิวซีแลนด์) ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด
19 ก่อน บางประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย) ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ
stress test ใหม่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ
ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินปันผล
หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน
รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย–. – สำนักข่าวไทย