fbpx

ผู้ว่าการ ธปท. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง แจงเงินเฟ้อหลุดเป้าแต่ยังไม่ฝืด

กรุงเทพฯ 17 ก.ค.-“วิรไท” ผู้ว่าการ ธปท. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคลัง แจงเงินเฟ้อหลุดเป้าแต่ยังไม่ฝืด คาดกลับเข้ากรอบไตรมาส 2/64


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงกันไว้ให้ชี้แจงหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% โดยยืนยันว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในไตรมาส 2/64 จากนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายต่อเนื่อง โดย ธปท.จะติดตามพัฒนาข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเวลาอันเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ -1.57% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.62-มิ.ย.63) อยู่ที่ -0.31% ประกอบกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63-มิ.ย.64) ตามรายงานนโยบายการเงินเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2563


ดังนั้น กนง.จึงขอชี้แจงว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรง และระยะเวลาของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง

การแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงมากและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากตามมาตรการควบคุมการระบาดและการว่างงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงอีกด้วย

บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือนอยู่ที่ -0.31% ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 1.04% และอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน สาเหตุสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานติดลบต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลง จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัวที่ 8.1% ลดลงจากประมาณการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.8% นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลออีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนตามราคาผักผลไม้และราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจากอุปทานที่ปรับลดลง 


ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ได้แก่ 

(1) ปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะการลดลงของราคาพลังงาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลงมาก สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว (global oil price crash) จากอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแข่งขันด้านราคาและปริมาณการผลิตระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในช่วงต้นปี 63 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือน ก.ค.62-มิ.ย.63 อยู่ที่ 51.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับ 68.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ มาตรการลดภาระค่าไฟของครัวเรือนเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และราคาก๊าซหุงต้มผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือนปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ -8.95%

(2) ปัจจัยด้านอุปสงค์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย ที่ชะลอลงตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง โดยการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวหดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ถดถอย และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน รวมถึงบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) ในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการของภาคธุรกิจทำได้ยาก อีกทั้งภาคธุรกิจยังได้จัดรายการส่งเสริมการขาย (promotion) เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจให้ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

(3) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ (1) การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่เร่งตัวยิ่งขึ้นจากการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่หันมาใช้ช่องทาง online มากขึ้นในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 (2) แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (automation) หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อระหว่างลูกจ้างในกระบวนการผลิต และทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลง เพิ่มเติมจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย เป็นต้น

ในระยะข้างหน้า กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63-มิ.ย.64) อยู่ที่ -0.9% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จากแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาพลังงานโลกยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดลงบ้างในหลายประเทศ แต่ยังคงมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

นอกจากนี้ ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกตามเศรษฐกิจโลกที่จะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดี ราคาพลังงานอาจมีแนวโน้มผันผวนสูงตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) ส่วนราคาอาหารสดชะลอลงจากผลของฐานสูงในปี 62 แต่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้ง ที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์มีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งจากมาตรการภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาสินค้าและบริการจะปรับเพิ่มอย่างช้า ๆ จากมาตรการของภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังคงช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะยังเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (deglobalization) และในที่สุดอาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญได้

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ ไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่ (1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 (2) ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่า 70% ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว (3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 1.8% อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขสุดท้ายว่า (4) อุปสงค์และการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

แม้ว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาส 2/64 โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับดีขึ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและช่วยฟื้นฟูกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดและพลังงาน สอดคล้องกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าปัจจัยด้านอุปทานทั้งจากราคาอาหารสดและพลังงานจะผันผวนสูงตามสถานการณ์ภัยแล้งและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและไทยที่มีความไม่แน่นอนสูงในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจต่างไปจากที่ประมาณการไว้  ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) กนง. ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น ในการพิจารณานโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนั้น กนง. คำนึงถึงขนาดและสาเหตุของปัจจัยที่เข้ามากระทบ ตลอดจนบริบทและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 กนง.เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มหดตัว และเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่หดตัว และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลก สำหรับอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน  ดังนั้น กนง. จึงมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จาก 1.25% ต่อปีมาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ตั้งแต่เดือน พ.ค.63 และสนับสนุนให้ดำเนินการควบคู่กับการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) จาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนทางการเงินให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงสอดรับกับมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ กนง.ยังสนับสนุนให้ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่น ๆ อาทิ การผ่อนผันการชำระหนี้โดยไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิต และการลดภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และให้ดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงิน ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อีกทางหนึ่งในระยะต่อไป กนง.เห็นว่ามาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดให้ตรงจุดและทันการณ์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจไม่ให้ลุกลามและเร่งกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทหลักที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเติบโตในระยะต่อไป ขณะที่นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะต่อไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชน ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้าหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

รวบรอง ผอ.โรงเรียนดัง หน.แก๊งค้ายา พบข้าราชการเป็นลูกค้าเพียบ

รวบหัวหน้าแก๊งค้ายาเป็น “รอง ผอ.” โรงเรียนดังย่านปากเกร็ด พร้อมสมุน ขยายผลพบลูกค้าเป็นข้าราชการอีกจำนวนมาก

คนไทย-คนจีนขับรถไล่ชนกันหน้าคลับดังเมืองพัทยา คาดหึงหวงสาวที่มาด้วย

รถตู้ 3 คัน และรถฟอร์จูนเนอร์ 1 คัน ขับไล่ชนกันไปมา บริเวณหน้าคลับแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา พบเป็นศึกระหว่างคนไทย 1 กลุ่ม และคนจีน 1 กลุ่ม สาเหตุคาดมาจากคนจีนหึงหวงแฟนสาวที่มาด้วย

ปัญหาต่างชาติในภูเก็ต ตอนที่ 3

ปัจจุบันการเข้ามาทำธุรกิจรถเช่าของต่างชาติที่ใช้คนไทยเป็นนอมินีในภูเก็ตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถของชาวต่างชาติในภูเก็ตก็มากขึ้นด้วย ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่โยงใยไปถึงเรื่องของภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว ไม่เฉพาะแค่ภูเก็ต แต่เป็นของเมืองไทยด้วย

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้อง คุณหญิงพรทิพย์ และพวก ในคดี GT200

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้อง “คุณหญิงพรทิพย์” และพวกรวม 10 คน ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ระบุไม่พบมีมูลความผิด ทุจริต มีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ

ข่าวแนะนำ

รถไฟฟ้าสีเหลืองขัดข้องอีกแล้ว (29 มี.ค.)

รถไฟฟ้าสีเหลืองขัดข้องอีกแล้วช่วงสายวันนี้ (29 มี.ค.) ทำให้รถจากสถานีลาดพร้าว เดินทางไปถึงสถานีหัวหมาก ต้องสิ้นสุดที่สถานีศรีกรีฑา

เรียกปลัดคลังพบที่ทำเนียบฯ แต่เช้า

นายกฯ เรียกปลัดคลังพบที่ทำเนียบฯ แต่เช้า หารือเรื่องยกเว้นภาษี​นำเข้าสินค้า​จากตปท.ที่ต่ำกว่า​ 1,500 บาท ​ขณะที่ปลัดยันไม่ได้คุยเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต แต่ให้เชื่อว่าชัดเจน 10 เม.ย.นี้แน่นอน

อุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศร้อนจัดบางพื้นที่

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดในระยะนี้ ส่วนภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ปรับแผนเดินรถจากเหตุขัดข้อง-ลดค่าโดยสาร 20%

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ปรับแผนการเดินรถจากเหตุขัดข้อง ตามมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมปรับลดค่าโดยสาร 20% จนกว่าจะเดินรถได้ตามปกติ