กรุงเทพฯ 18 มี.ค.- ราคาข้าวหอมมะลิในประเทศพุ่งตันละ 16,000-17,000 บาท ส่วนตลาดโลกพุ่งตันละ 30,000 บาท
นายประสาน พูลเวช รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเริ่มขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน พ.ย. ช่วงปลายปี 2560 ราคาประมาณ 11,000 บาทต่อตัน ขณะนี้ขยับขึ้นมาเป็น 16,000-17,000 บาทต่อตัน เพราะปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยปลายปีก่อน จากเดิมคาดว่าจะมีผลผลิต 8 ล้านตัน แต่ชาวนาเก็บเกี่ยวได้เพียง 7.1 ล้านตัน อีกทั้งตลาดโลกต้องการบริโภคสูงขึ้น ราคาตลาดโลกจากเดิม 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเพิ่มเป็น 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 30,000 บาทต่อตัน ในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวเหนียว ราคาขยับสูงขึ้นมาเกือบเท่าข้าวหอมมะลิช่วง 2-3 ปีก่อนที่เคยมีราคา 8,000 บาทต่อตัน เมื่อชาวนาหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้นเพราะขายได้ราคาดีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น จึงทำให้ราคาปรับลดลงจาก 11,000 บาทต่อตัน ลดเหลือ 10,200 บาทต่อตัน
เมื่อข้าวหอมมะลิขยับสูงขึ้น จึงทำให้ข้าวทดแทนหอมมะลิปรับเพิ่มราคาขึ้นตามไปด้วย เพราะสามารถแปรรูปทำเป็นข้าวผสมได้ร้อยละ 8 ในการผลิตข้าวบรรจุถุง จึงทำให้ข้าวหอมปทุมธานี 1 ราคาขยับจาก 9,200 บาทต่อตัน เพิ่มเป็นราคา 10,000-12,000 บาทต่อตันในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าเดิม ราคา 6,000 บาทต่อตัน ขณะนี้ราคาเพิ่มเป็น 7,800-7,900 บาทต่อตัน เมื่อข้าวเปลือกในตลาดมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ชาวนาที่เข้าโครงการชะลอการขายข้าว หรือการจำนำยุ้งฉาง อาจไถ่ถอนข้าว เพื่อไปขายในตลาดเมื่อครบกำหนด 5 เดือน เพราะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ โดยจะครบกำหนดไถ่ถอนตั้งเดือนเมษายน,พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพราะขายในตลาดได้ราคาดีกว่า สำหรับแนวโน้มราคาข้าวเพิ่มขึ้นแต่ชาวนายังเข้าโครงการช่วงที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลอุดหนุนได้ทั้งค่าเก็บเกี่ยวและค่ารับฝากข้าวในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน จึงทำให้โครงการชะลอการขายข้าวมีชาวนานำข้าวมาจำนำยุ้งฉาง 1.4 ล้านตัน จากเป้าหมาย 2 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 9 แสนตัน ข้าวเหนียว 2 แสนตัน ที่เหลือเป็นข้าวขาว ข้าวหอมปทุมฯและข้าวประเภทอื่น
ในส่วนของการผลิตแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่าย จากการระบายข้าวในสตอกของรัฐบาล จึงทำให้ราคาข้าวถุง A-Rice ของ ธ.ก.ส. ได้ปรับเพิ่มจาก 170 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม เพิ่มเป็นราคา 185 บาท ขณะที่ราคามันสำปะหลังราคาปรับเพิ่มจาก 2.4 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 2.5 บาท นับว่าราคาสินค้าเกษตร เริ่มปรับสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจซื้อ และแม้จะมีรายได้เพิ่ม แต่อาจมีภาระหนี้ครัวสูงขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นถูกนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินต้น ทำให้ปริมาณเงินมีไม่มากพอในการจับจ่ายใช้สอย หากสร้างรายได้เสริมหรือลดภาระหนี้ เชื่อว่า เกษตรกรจะมีการใช้จ่ายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น-สำนักข่าวไทย