สมุทรสาคร 11 มี.ค.-การนำเข้าแรงงานแบบรัฐต่อรัฐจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะใช้ระยะเวลาในการคัดกรองคน แต่ภาครัฐยืนยันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ขณะที่เจ้าของเรือประมง ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เสนอให้ภาครัฐตั้งศูนย์รับแรงงานที่ด่านชายแดน เพื่อลดขั้นตอน
นี่เป็นหนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งผู้ที่ทำงานบนเรือประมงจะต้องมีไว้ เพื่อบันทึกประวัติและข้อมูลนายจ้าง รวมทั้งหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน และบัตรสีชมพู เพื่อยืนยันว่าเรือนี้มีการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย
จัดหางานสมุทรสาครบอกว่า แรงงานประมงในเรือหาคนทำยาก เพราะงานหนัก งานเสี่ยง ที่สมุทรสาครมีนายจ้างขอโควตาแรงงานในกิจการประมง กว่า 9,000 คน แต่จดทะเบียนถูกต้องเพียง 2,900 คน ช่วงหาคนยากที่สุด คือ หลังจากการปิดอ่าว งดทำประมง เพราะแรงงานที่เคยอยู่บนเรือจะขาดรายได้ หนีกลับประเทศ บางคนหลบหนีไปสู่กิจการอื่น พอเปิดอ่าว ทำประมงได้ แรงงานที่เคยทำงานบนเรือก็ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ จึงต้องหาคนใหม่ ทำเอกสารใหม่ทั้งหมด
ประธานสมาคมการประมงบอกว่า หลังเข้มงวดปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้อำนาจการต่อรองอยู่ที่แรงงานต่างด้าวมากกว่านายจ้าง ทั้งการกำหนดค่าแรง การเปลี่ยนนายจ้าง เมื่อขาดแคลนแรงงานยิ่งกระทบต่อธุรกิจ เพราะออกเรือไม่ได้ ผู้ทำธุรกิจประมงเสนอว่า รัฐควรรับฟังและแก้ปัญหาร่วมกับเจ้าของเรือ หรืออาจใช้กฎหมายที่เอื้อให้จัดหาแรงงานให้ได้เร็วขึ้น เช่น การตั้งศูนย์รับสมัครแรงงานประมงที่ด่านชายแดน แทนการนำเข้าแบบ MOU เพื่อลดขั้นตอน
อธิบดีกรมการจัดหางานระบุว่า การนำเข้าแรงงานแบบรัฐต่อรัฐใช้เวลากว่า 3 เดือน แต่เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะได้ตรวจสอบเข้มงวด มีฐานข้อมูลแรงงานเป็นระบบ
ทางการยังเสนอแนวคิดให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเรือประมง ในรูปแบบสหกรณ์ หรือบริษัท โดยนำเข้าแรงงานและจัดสรรหมุนเวียนแรงงานกันเองให้สอดคล้องกับรอบการออกเรือ เพื่อให้มีแรงงานประมงบนเรือเพียงพอและมีงานทำต่อเนื่อง แต่ติดที่ข้อกฎหมายยังไม่อนุญาตให้แรงงานประมงบนเรือมีนายจ้างเกินกว่าที่ระบุในเอกสารที่ได้รับอนุญาต.-สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ