กทม.23 เม.ย. – “อิทธิ” เผยคิกออฟแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ภาคเหนือหลังวิกฤติหนัก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุก ใช้เทคนิคทำฝนหลวง-โปรยน้ำแข็งแห้ง หวังลดระดับฝุ่นที่พุ่งสูงเกินมาตรฐาน ขณะที่รัฐอนุมัติงบ 200 ล้านบาท โครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวง
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งดำเนินการหลายมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่กำลังประสบปัญหาในระดับวิกฤตรวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักการเกิดฝุ่น pm.2.5 มาจากการเผาวัชพืช ตอ ซัง เพื่อการทำการเกษตรรอบใหม่
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เมื่อก่อนทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะใช้วิธีการขึ้นบินและพ่นสเปรย์ละอองน้ำเพื่อลดระดับฝุ่น PM 2.5 แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการคิดค้นวิธีการใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่าย คือการขึ้นบินและโปรยเกร็ดน้ำแข็งแห้ง จากเดิมที่ต้องขึ้นบินพ่นสเปรย์ละอองน้ำ 2 รอบ หากเปลี่ยนมาใช้วิธีการขึ้นบินและโปรยเกร็ดน้ำแข็งแห้งจะบินแค่รอบเดียว และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่า ซึ่งการโปรยเกล็ดน้ำแข็งแห้งจะทำให้ชั้นบรรยากาศเกิดการผกผันและเกิดช่องโหว่ในการระบายฝุ่น PM 2.5 ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านนอกไม่กระทบต่อสุขภาพขแงประชาชน


นายอิทธิ ระบุรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขอเพื่อสนับสนุนโครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 หรือ น้ำแข็งแห้ง พร้อมติดตั้ง จำนวน 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง จ.ตาก ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น แห่งละ 1 ชุด ซึ่งการอนุมัติงบประมาณตรงนี้จะเป็นการช่วย ให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่กรมฝนหลวงฯต้องสั่งซื้อน้ำแข็งแห้งจากภาคเอกชน
ด้านนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า หลังได้รับมอบหมายภารกิจ ทางกรมฯได้ระดมปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพื้นที่วิกฤตในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันอย่างรุนแรง โดยในปฏิบัติการครั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ใช้เทคนิคการโปรยเกร็ดน้ำแข็งแห้ง เพื่อปรับสภาพอากาศให้ผกผันเกิดช่องอากาศในชั้นบรรยากาศช่วยในการระบายและกระตุ้นการก่อตัวของเมฆ รวมถึงเลี้ยงเมฆให้มีความหนาแน่นก่อนเข้าสู่กระบวนการทำฝน ช่วยเพิ่มโอกาสเกิดฝนในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เพื่อประสานเส้นทางการบินให้สอดคล้องกับเที่ยวบินพาณิชย์ ไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยและการจราจรทางอากาศ ซึ่งจากการติดตามผล พบว่าหลังการปฏิบัติการในบางพื้นที่ ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้กรมฝนหลวงยืนยันว่าจะเดินหน้าปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุด .315.-สำนักข่าวไทย