กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-ย้อนไปเมื่อปี 58 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดให้ผู้ที่ค้าหรือครอบครองงาช้างมาขึ้นทะเบียน มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยแบ่งการขึ้นทะเบียนเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงของงาช้างบ้าน และช่วงของงาช้างแอฟริกา ซึ่งผู้บริหารกรมอุทยานฯ แถลงวันนี้ พบว่า ภรรยานายเปรมชัย กรรณสูต แจ้งการครอบครองงาช้างเป็นเท็จ
งาช้าง 4 กิ่ง ที่ตำรวจตรวจพบหลังเข้าตรวจค้นบ้านพักในซอยศูนย์วิจัย ของนายเปรมชัย กรรณสูต เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ ถูกนำไปตรวจพิสูจน์ที่หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลล่าสุดพบว่าเป็นงาช้างแอฟริกา จัดเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 35 ซึ่งผู้ครอบครองมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไปแจ้งความต่อตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินคดีกับภรรยานายเปรมชัย เมื่อวานนี้
กรมอุทยานฯ เคยเปิดให้ผู้ที่ค้าหรือครอบครองงาช้างมาขึ้นทะเบียน หลัง พ.ร.บ.งาช้าง ปี 58 มีผลบังคับใช้ การตรวจสอบครั้งนั้นจะดูว่าเป็นงาช้างจริง หรือเป็นเรซิน หรือเป็นกระดูกของสัตว์อื่น การทำทะเบียนงาช้างจะบันทึกภาพทั้งระบุจำนวน ขนาด รูปลักษณ์ และแสดงเอกสารถึงการได้มา แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ มกราคม-เมษายน ปี 58 สำหรับผู้ครอบครอบงาช้างบ้าน ส่วนมีนาคม-มิถุนายน 58 สำหรับผู้ครอบครองงาช้างแอฟริกา
กรณีภรรยานายเปรมชัย มีข้อมูลว่ายื่นแจ้งครอบครองเมื่อเมษายน ปี 58 เป็นการแสดงเจตนาว่าครอบครองงาช้างบ้าน แต่เป็นการยื่นแจ้งในช่วงท้าย เจ้าหน้าที่จึงยังไม่ได้ตรวจงาช้างจริง เห็นเพียงเอกสารและภาพถ่ายงาช้างเท่านั้น
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า กรณีภรรยานายเปรมชัย พบความผิดชัดเจนว่าแจ้งการครอบครองงาช้างเป็นเท็จ และงาช้างนั้นเป็นงาช้างแอฟริกาด้วย
ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา หรือไซเตส บอกว่า หลังปี 58 ที่ให้ผู้ครอบครองงาช้างมาขึ้นทะเบียน พบว่ามีผู้มาแจ้งครอบครองงาช้างแอฟริกาไม่กี่สิบรายเท่านั้น ในอดีตการครอบครองผลิตภัณฑ์จากงาช้างแฟริกาสามารถทำได้ก่อนมีกฎหมายคุ้มครอง แม้ในช่วงที่กรมศุลกากรตรวจยึดได้ในอดีต ก็พบว่ามีการเปิดประมูลขายให้คนทั่วไปในช่วงนั้น
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงปี 58 ที่มีผู้แจ้งครอบครองผลิตภัณฑ์จากงาช้างทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านรายการ งาช้างดิบอีกกว่า 60,000 รายการ การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นงาช้างบ้านหรืองาช้างแอฟริกา เป็นหน้าที่ของผู้แจ้งครอบครอง หากมีเหตุอันควรสงสัยเจ้าหน้าที่สามารถเรียกให้นำงาช้างมาพิสูจน์ เพื่อดูว่าเป็นงาช้างแอฟริกาหรือไม่ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ทุกกิ่ง เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีงบประมาณ
นับจากปี 58 การครอบครองหรือค้างาช้างแอฟริกา ถือว่าผิดกฎหมายไทย ปัจจุบันจึงมีความเข้มงวดในการห้ามลักลอบนำเข้าหรือใช้ไทยเป็นทางผ่านของขบวนการค้างาช้างแอฟริกา แต่ยังคงมีข่าวการลักลอบนำเข้าอยู่เสมอ รวมทั้งมีการเปลี่ยนเส้นทางไปผ่านประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ