นครพนม 6 มี.ค. – ที่ จ.นครพนม ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงลำห้วยสำคัญ เริ่มแห้งขอด เป็นโอกาสดีของชาวบ้านตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ จะได้ร่วมสืบสานประเพณีวิถีชุมชน ลงแขกหาปลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผ่าปลา” ถือเป็นอีกประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาแต่อดีต จุดประสงค์การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน รวมถึงเป็นการจัดหารายได้สมทบทุนพัฒนาหมู่บ้าน เช่นเดียวกับชาวบ้านหนองหินแฮ่ บ้านหนองญาติ ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม ที่มีแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ขนาดใหญ่ ได้รับการพัฒนาขุดลอก เนื้อที่กว่า 70 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดนานาชนิดให้ชาวบ้านได้นำมาเป็นอาหาร
ปีนี้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดกิจกรรมผ่าปลาขึ้น เพื่อให้เซียนหาปลาจากหลายจังหวัดที่สนใจวิถีชุมชน กิจกรรมผ่าปลา มาร่วมหาปลาในอ่างเก็บน้ำหนองหินแฮ่ ครั้งนี้มีเซียนหาปลากว่า 5,000 คน นำอุปกรณ์หาปลานานาชนิดมาร่วมกิจกรรม ทำให้หนองน้ำกว่า 70 ไร่ เต็มไปด้วยเซียนหาปลาที่โชว์ความสามารถในการล่าปลาให้ได้มากที่สุด โดยคณะกรรมการจะตั้งกติกาเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อนำรายได้เป็นการกุศลพัฒนาหมู่บ้าน ชิ้นละ 100 บาท ทำให้เก็บเงินได้กว่า 100,000 บาท นำไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนปลาที่ชาวบ้านหาได้จะนำไปขายในราคาถูก เพื่อให้ชาวบ้านได้ซื้อไปเป็นอาหารรับประทาน ราคาตั้งแต่ 50-200 บาท/กิโลกรัม ตามประเภทของปลา
นายทองแดง คานดง อายุ 64 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองญาติ หมู่ 2 ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่า ประเพณีลงแขกหาปลา หรือ ผ่าปลา ถือเป็นวิถีชาวบ้านที่สืบทอดมาแต่อดีต เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านจะจัดกิจกรรมผ่าปลาขึ้น เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน รวมถึงหารายได้เพื่อการกุศล นำไปพัฒนาหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้งที่ว่างเว้นจากการทำการเกษตร โดยจะเปิดแหล่งน้ำสาธารณะให้ชาวบ้านได้ร่วมกันหาปลาที่นำมาเลี้ยงไว้เป็นส่วนรวมในรอบปี ซึ่งจะตั้งกติกาจัดเก็บเงินในการเข้าร่วมกิจกรรมตามอุปกรณ์หาปลาต่อชิ้น ประมาณชิ้นละ 100 บาท เพื่อรวบรวมรายได้ไปพัฒนาหมู่บ้าน แต่ปลาที่ขายได้ถือเป็นรายได้ของชาวบ้าน ส่วนคนที่ซื้อไปรับประทานยังได้ซื้อปลาในราคาถูกด้วย
หนองน้ำแห่งนี้เดิมเป็นพื้นที่ตื้นเขิน มีผักตบชวาขึ้นหนา คณะกรรมการหมู่บ้านจึงเสนอโครงการไปยังจังหวัด เพื่อให้พัฒนาเป็นแหล่งน้ำเมื่อปี 2558 จนกระทั่งมีการพัฒนาขุดลอกเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และทางเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม ได้นำพันธุ์ปลามาปล่อยครั้งละ 50,000-100,000 ตัว จึงเป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ ปลาบึก ปลากราย ปลานิล ปลาชะโด ปลาเพาะ พอเข้าสู่ฤดูแล้ง คณะกรรมการหมู่บ้านจะจัดให้ลงแขกจับปลา เพื่อนำเงินรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน ทำให้มีเซียนหาปลาสนใจแห่มาร่วมคึกคัก . – สำนักข่าวไทย