กรุงเทพฯ 2 มี.ค.- สรท.ยืนยันเป้าส่งออกปีนี้โตร้อยละ 5.5 จับตาบาทแข็งค่าและนโยบายสหรัฐทั้งดอกเบี้ยและ America First
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภา สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ยืนยันเป้าการส่งออกปีนี้ว่า จะขยายตัวร้อยละ 5.5 ภายใต้สมมุติฐานเงินบาท อยู่ที่ 31.5 บวกลบ 0.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นมาก โดยจะขอติดตามตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมก่อนประเมินตัวเลขการส่งออกต่อไป และต้องติดตามประเด็นที่อาจส่งผลกระทบได้แก่ นโนบายหรือมาตรการภาครัฐที่ประกาศเพิ่ม ด้านเงินบาทต้องการให้มีเสถียรภาพ หลังจากขณะนี้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่า จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลให้เงินบาทมีเสถียรภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากเห็นที่ 31.50-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนสถานการณ์การส่งออก ประจำเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่สูงสุดในรอบ 5 ปี 2เดือน ด้วยมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกในรูปเงินบาท คิดเป็นมูลค่า 652,511 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงวเดียวกันปีที่ผ่านมา
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา คิดเป็นยอดนำเข้ารูปเงินบาท 664,643 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
สรุปภาพรวมแล้วเดือนมกราคมปีนี้ประเทศไทยขาดดุลการค้า ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มูลค่า 119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 12,132 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในปริมาณมาก ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท และเพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนและส่งเสริมศักนภาพภาคการผลิตในระยะยาว
ส่วนการส่งออกเดือน กุมภาพันธ์คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 7-8 ด้วยมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกปีนี้ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น และประเทศคู่ค้าศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ รัสเซียและ CIS, ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลิตภาพของการผลิตระยะยาว รวมถึงการเร่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และปัจจัยทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้นและทำให้กลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.88 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่มีความเข้มข้นมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบาย America First ซึ่งปัจจุบันมีสินค้ากว่า 4 ประเภทของไทยที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้า แผงผลังงานแสงอาทิตย์ เหล็กและอลูมิเนียม ยางรัด และมีแนวโน้มจะเพิ่มรายการสินค้าขึ้นในอนาคต และปัญหาด้านโลจีสติกส์การค้าระหว่างประเทศ เช่น การขาดแคลนตู้สินค้า ความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ การเจราจรเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 31.46 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับฐานค่าเงินที่ใช้ประมาณการการส่งออกในปีนี้ ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 11 ใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปและอังกฤษ ใกล้เคียงกับจีนด้วย แต่แข็งค่ามากกว่าประเทศฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงร้อยละ 4.4ดังนั้น ปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท จึงยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกในปีนี้
สิ่งที่น่ากังวลคือ การปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งยังไม่คิดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจริง ๆ ในช่วงนี้ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ ทิศทางเพิ่มขึ้นปีนี้จะอยู่ที่ 62-67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล-สำนักข่าวไทย