กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – กฟผ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (แนวท่อบนบก) ครบถ้วนแล้ว
กฟผ. ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (แนวท่อบนบก) ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ครบทั้ง 19 เวที เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา พร้อมเตรียมลงพื้นที่สำรวจสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความคิดเห็นรายบุคคล เพื่อเดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งต่อไป
ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมกับบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (PP1) โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification: FSRU) บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน โครงการท่าเทียบเรือ FSRU และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติฯ แนวท่อบนบกพาดผ่าน โดยดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2560 – 22 ก.พ. 2561 ครบทั้ง 19 เวที เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียต่อแนวทางเลือกวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่อยู่บนบก จากจุดขึ้นท่อบนบกบริเวณ ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ เรื่อยมาตามแนวคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ จากนั้นเชื่อมต่อไปยังโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้า 230 kV (บางปะกง-บางพลี) และโครงข่ายไฟฟ้า 230 kV (เทพารักษ์-พระนครใต้) ของ กฟผ. จนกระทั่งถึงโรงไฟฟ้าพระนครใต้ รวมเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมมากที่สุด ได้เข้ารับฟังความคิดเห็นและมีการนำเสนอข้อมูล ขอบเขตของการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นของโครงการฯ การคัดเลือกและการกำหนดที่ตั้งของโครงการฯ เทคนิคและวิธีการก่อสร้าง ผลกระทบต่อการจราจร มาตรการด้านความปลอดภัยทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ ตลอดจนแนวทางการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดแนวท่อบนบก แนวท่อในทะเล และจุดขึ้นท่อการนำเดินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ เป็นต้น
“หลังจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาฯ และ กฟผ. จะเริ่มลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่เป็นรายครัวเรือน โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อนำข้อห่วงกังวลต่างทั้งหมดมาศึกษา เพื่อเสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่ได้ตลอดจนวางแนวทางให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงลดผลกระทบของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียให้ได้มากที่สุด ก่อนจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (PP2) เพื่อนำเสนอร่างรายงาน EIA ต่อไป” ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าว
สำหรับโครงการนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ได้มอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ซึ่งเป็นโครงการ FSRU แห่งแรกของประเทศไทย สำหรับรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าได้ในปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบมติการประชุมของ กพช. นี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560
อีกทั้ง โครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนจะช่วยให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายใหม่ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนช่วยเพิ่มจุดเชื่อมต่อ (entry point) ให้กับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงของระบบจัดหาก๊าซธรรมชาติและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือว่าเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป – สำนักข่าวไทย