นครราชสีมา 21 ก.พ. – กรมปศุสัตว์ส่งเสริมการปลูกและการใช้ต้นข้าวโพดหมักเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง เนื่องจากมีโปรตีนสูง ทำให้วัว ควาย แพะ และแกะโตเร็ว โดยเฉพาะในวัวนมจะให้นมคุณภาพดี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ นครราชสีมา จัดงานวันต้นข้าวโพดหมัก เนื่องจาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มีผู้เลี้ยงโคนมกันมาก แต่คุณภาพของน้ำนมยังด้อย โดยเฉพาะไขมันต่ำกว่าเกณฑ์
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์วิจัยพบว่า ต้นข้าวโพดระยะให้ฝักเป็นน้ำนม 50% มีโปรตีนสูง เมื่อใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องจะโตไว ร่างกายสมบูรณ์ หากเลี้ยงวัวนม น้ำนมที่ได้จะมีไขมันสูงขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น และสามารถนำไปผลิตเป็นนมโรงเรียนได้
สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากคือ สุวรรณ 5 นครสวรรค์ 3 และ 888 เพราะให้ผลผลิตต่อไร่สูง ใบดก ไม่ล้มง่าย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 85-90 วัน หั่นให้มีขนาด 1-2.5 เซนติเมตร อัดลงในถุงหรือถัง ระยะเวลาหมัก 21 วัน จะได้ข้าวโพดหมักที่มีโปรตีน 7% ค่าความเป็นกรด-ด่างพอเหมาะ และมีกลิ่นหอม สำหรับการใช้ จะใช้เป็นอาหารหยาบแยกส่วน หรือผสมกับอาหารข้นเป็นอาหารผสมครบส่วนหรือ TMR ก็ได้ เก็บไว้ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ได้นาน ต้นทุนการผลิตข้าวโพดหมักกิโลกรัมละ 1.80-2.40 บาท ได้ผลผลิต 6-8 ตันต่อไร่ ขายกิโลกรัมละ 2-2.50 บาท
กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวแล้วขาดทุน หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น หรือเจ้าของฟาร์มจะปลูกเองเพื่อลดต้นทุนจากการซื้ออาหาร ตรงกับนโยบาย “อยู่ดี กินดี” ปศุสัตว์มีคุณภาพ. – สำนักข่าวไทย