กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – สนข.สรุปรูปแบบรถไฟฟ้าสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ควรมีทั้งระบบขนส่งมวลชนและระบบทางพิเศษ รองรับการเดินทางด้านตะวันออกและตะวันตก พร้อมเร่งเสนอ ครม.พิจารณาภายในปีนี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า ผลการศึกษาเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวจะมีทั้งระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางพิเศษหรือทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน ซึ่งเป็นรูปแบบเหมาะสมที่สุด โดยทางพิเศษอยู่ด้านบนและระบบรถไฟฟ้าอยู่ด้านล่างจะช่วยรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 16.02 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะเริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู ไปตามแนวเส้นทางงามวงศ์วาน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบริเวณสถานีบางเขนผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว -สำโรง) เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา (ช่วงวัชรพล-พระราม 9) และสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เบื้องต้น 18 สถานี
ส่วนระบบทางพิเศษออกแบบเป็นทางยกระดับตลอดแนวเส้นทาง แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณแยกเกษตรไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนา แยกสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์) แยกนวลจันทร์แยกนวมินทร์ สิ้นสุดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และ ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว แนวคลองบางเขน และแนวเลียบขนานทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังเหลือขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 สรุปผลการศึกษาโครงการด้านความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสรุปรูปแบบระบบรถไฟฟ้า รูปแบบการลงทุน จากนั้น สนข.จะนำผลสรุปการศึกษานำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในปีนี้ หากผ่านการพิจารณาทางกระทรวงคมนาคมจะมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พัฒนาโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เสร็จจะทำให้โครงข่ายระบบรถไฟฟ้ามีระยะทาง 480 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและจะส่งผลให้ผู้โดยสารของระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 ในปี 2594.-สำนักข่าวไทย