กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – กระทรวงคมนาคม เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนสู่ระดับสากล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “คมนาคมปลอดภัย ประชาชนอุ่นใจ สัญจรทั่วไทย ไร้อุบัติเหตุ” เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนหาแนวทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน หลังพบว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน 1-2 คน ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% ของจีดีพี และจากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนถึง 16,157 ครั้ง คิดเป็น 23.29% ของจำนวนอุบัติเหตุทั้งประเทศ ที่สำคัญสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุยังเป็นเรื่องเดิมซ้ำๆ เช่น ยังคงมีโค้งอันตราย หรือโค้งร้อยศพ แต่ละวันยังคงมีรถชนต้นไม้ข้างทางเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง ขณะที่ยังมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะพลิกคว่ำเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง สะท้อนถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา
สำหรับกรณีเมาแล้วขับ นับเป็นหนึ่งปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข หลังจากนายกรัฐมตรี ได้ให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะรวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกรณีผู้ที่ดื่มสุรามีอาการมึนเมาแล้วมาขับรถ ผู้ที่นั่งมาในรถกับคนขับก็จะถูกดำเนินคดีด้วย เนื่องจากถือเป็นการกระทำผิด ปล่อยปละให้ผู้เสพสุรามึนเมา ขับรถซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงกรณีที่ผู้ขับเสียชีวิตจากการมึนเมาสุรา และมีผู้อื่นได้รับความเสียหาย ครอบครัวของผู้ขับก็จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปพิจารณาศึกษาในรายละเอียดและความเหมาะสม ดูตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศก่อนที่จะนำมาปรับปรุงกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ มีกฎข้อบังคับที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ขับต้องมีแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ และสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ได้มีการประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อหารือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน รวมถึงการปรับแก้กฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น พร้อมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ตัวถนน ผู้ขับขี่ ไปจนถึง ยานพาหนะ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิบัติการลดอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2559-2560 ที่จะมีการพิจารณาในวันนี้ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน การมีถนนสัญจรอย่างปลอดภัย การมียานพาหนะที่ปลอดภัย ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนครั้ง ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน – สำนักข่าวไทย