กรุงเทพฯ 16 ก.พ. – สศช.เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น กำหนดเป้าหมายประเทศ 6 ด้านในช่วง 20 ปีข้างหน้า นายกฯ เตรียมทูลเกล้าฯ ก.ค.นี้
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ซึ่งวันนี้ (16 ก.พ.) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนภาคกลางและกรุงเทพมหานคร
นายปรเมธี กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่จัดทำขึ้นเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ในช่วงปี 2560-2579 ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันว่าประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง คนไทยจะมีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 2579 ขณะที่อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี จากปัจจุบัน GDP ขยายตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 3.8- 4.0 โดยคาดว่าจะสามารถทำได้ภายใน 15 -20 ปีข้างหน้า
ด้านผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี จากที่ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ขณะเดียวกันประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) จากที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับ 25-30 ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรเป็นหนึ่งในด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อน มีการต่อยอดภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ มีการสร้างนักรบทางเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งธุรกิจ Start Up และ SMEs ขณะเดียวกันต้องสร้างให้ประเทศไทยเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมท่องเที่ยวเชิงธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความงามและแพทย์แผนไทย เป็นต้น
สำหรับร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะจัดทำขึ้นและนำมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์จะเสริมซึ่งกันและกันเพื่อผลักดันประเทศไทยให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นจะมีการทบทวนทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์โลกหรือประเทศเปลี่ยนแปลง
นายปรเมธี กล่าวว่า หลังจากนี้ สศช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะครั้งที่ 4 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 และเมื่อการรับฟังความคิดเห็นเสร็จ สศช.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดประมวลเสนอคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มด้านเศรษฐศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็น โดยวันที่ 8 มิถุนายน 2561 จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย เดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ ด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ได้เตรียมการด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติไว้แล้ว.-สำนักข่าวไทย