กทม.12 ก.พ.-พม.-นิด้าโพลล์ เปิดผลสำรวจ ‘วาเลนไทน์ของวัยรุ่นไทย รักอย่างไรไม่ให้ทุกข์’ พบกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 20 ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มาก ขณะที่พบกว่าร้อยละ 54 ปฏิเสธการขอมีเพศสัมพันธ์ในวันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ถึงวัยอันควร ไม่อยากเสียอนาคตและการแสดงความรักมีหลายรูปแบบ
พม. Poll ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1–12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “วาเลนไทน์ของวัยรุ่นไทย รักอย่างไรไม่ให้ทุกข์” โดยสำรวจระหว่างวันที่13-22 ธ.ค.2560 จากวัยรุ่นไทยที่มีอายุระหว่าง14-19 ปี กระจายทุกระดับการศึกษาทั่วประเทศ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) รวมขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น 4,800 หน่วยตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม กำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.0
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงสิ่งที่นึกถึง เมื่อพูดถึงวันวาเลนไทน์ พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.19 ระบุว่า ดอกไม้/ดอกกุหลาบ รองลงมา ร้อยละ 37.65 ระบุว่า ความรักในครอบครัว ร้อยละ 34.65 ระบุว่า ช็อคโกแลต ร้อยละ 29.31 ระบุว่า ความรักจากแฟน ร้อยละ 28.73 ระบุว่า ตุ๊กตา ร้อยละ 23.08 ระบุว่า สติ๊กเกอร์รูปหัวใจ ร้อยละ 0.25 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ถุงยางอนามัย/การมีเพศสัมพันธ์, เงิน-ทอง และร้อยละ 10.29 ไม่นึกถึงอะไรเลย/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงสิ่งอยากทำมากที่สุดในการแสดงความรักในวันวาเลนไทน์ พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.25 ระบุว่า มอบสิ่งของ/ของขวัญ รองลงมา ร้อยละ 60.94 ระบุว่าส่งข้อความทางโซเชียลมีเดีย โดยส่วนใหญ่จะส่งทาง Facebook, Line ร้อยละ 41.90 ระบุว่า มอบดอกไม้ ร้อยละ 21.04 ระบุว่า ดูหนัง ร้อยละ 20.85 ระบุว่า ทานอาหาร ร้อยละ 12.65 ระบุว่า เดินเล่นตามห้าง/ชมแสงไฟ ร้อยละ 10.19 ระบุว่า ส่งการ์ด/กลอน และร้อยละ 4.10 ระบุว่าไม่ทำอะไร
สำหรับการให้ความสำคัญของวันวาเลนไทน์ พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.35 ให้ความสำคัญของวันวาเลนไทน์ในระดับปานกลาง รองลงมา ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ระดับมาก ร้อยละ 8.90 ระบุว่า ระดับน้อย ร้อยละ 8.38 ระบุว่า ระดับมากที่สุด ร้อยละ 4.54 ระบุว่า ระดับน้อยที่สุด และร้อยละ 4.15 ระบุว่า ไม่ให้ความสำคัญเลย ในส่วนของวิธีการแก้ปัญหา หากมีปัญหาความรักกับแฟน/คู่รัก พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.73 ระบุว่า หันมาคุยกันและปรับความเข้าใจกับแฟน รองลงมา ร้อยละ 37.63 ระบุว่า หาที่ปรึกษาที่เราไว้ใจ ร้อยละ 29.56 ระบุว่า ไปหาเพื่อน ร้อยละ 20.27 ระบุว่า ไปเที่ยว ร้อยละ 17.58 ระบุว่า อยู่เงียบ ๆ คนเดียว ร้อยละ 10.67 ระบุว่า สังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ระบายความรู้สึกผ่านทางโซเซียลมีเดีย เช่น Facebook, Line ร้อยละ 6.33 ระบุว่า ไปวัด ร้อยละ 0.06 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เลิกคบกับแฟน และร้อยละ 9.88 ระบุว่า ไม่เคยมีปัญหา
เมื่อกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (ในวัยเรียน) เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ พบว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.06 ระบุว่าไม่เหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 16.77 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ และร้อยละ 6.17 ระบุว่าเหมาะสม ในส่วนประเด็นการมีเพศสัมพันธ์เป็นการแสดงออกถึงความรักหรือไม่ พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.54 ระบุว่าไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความรัก รองลงมา ร้อยละ 25.33 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ และร้อยละ 12.13 ระบุว่า ใช่
สำหรับการตัดสินใจหากแฟนหรือคู่รักขอมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ พบว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.29 ระบุว่า ปฏิเสธ รองลงมาร้อยละ 35.56 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 9.71 ระบุว่า ยินยอม และร้อยละ 0.44 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ถ้าอยู่ในวัยที่เหมาะสมแล้วจะยินยอมไม่ใช่เรื่องแปลก ให้ดูตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและอารมณ์ ทั้งนี้ในจำนวนของตัวอย่างที่ระบุว่าปฏิเสธให้เหตุผลว่ายังไม่ถึงวัยอันควร, ไม่อยากเสียอนาคต,การแสดงความรักมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์,ผิดหลักขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ส่วนตัวอย่างที่ระบุว่ายินยอม ให้เหตุผลว่า ความต้องการทางเพศ, เป็นการแสดงความรัก และเป็นเรื่องปกติ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงวิธีการที่จะแสดงความรักอย่างมีความสุขและเหมาะสมในวันวาเลนไทน์ พบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.23 ระบุว่า แสดงความรักด้วยการให้ดอกไม้และสิ่งของต่าง ๆ ที่แสดงถึงความรัก รองลงมา ร้อยละ 33.24 ระบุว่า ไปเที่ยวกับครอบครัว หรือพาคนรักไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว ไปกินข้าว ร้อยละ 19.26 ระบุว่า มอบความรัก ความจริงใจ ร้อยละ 4.03 ระบุว่า รักและดูแลเอาใจใส่กันภายใต้ความเหมาะสมของวัย อยู่ในกรอบของผู้ใหญ่ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ร้อยละ 2.23 ระบุว่า ชวนกันทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อสังคม เช่น ทำบุญบ้านเด็กกำพร้า บริจาคสิ่งของ
เมื่อพิจารณาลักษณะข้อมูลทั่วไปของตัวอย่าง พบตัวอย่างร้อยละ 50.00 เป็นเพศหญิงและเพศชายในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 20.90 อายุ 14 ปี รองลงมาร้อยละ 18.21 อายุ 15 ปี ร้อยละ 17.96 อายุ 18 ปี ร้อยละ 17.54 อายุ 19 ปี ร้อยละ 15.50 อายุ 17 ปี และร้อยละ 9.90 อายุ 16 ปี และเมื่อแบ่งกลุ่มวัยรุ่นไทย พบว่า ร้อยละ 51.00 เป็นวัยรุ่นตอนปลาย (อายุ 17-19 ปี) และร้อยละ 49.00 เป็นวัยรุ่นตอนกลาง (อายุ 14-16 ปี) และตัวอย่างร้อยละ 39.04 ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. รองลงมาร้อยละ 38.35 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 14.88 อนุปริญญา/ปวส.และร้อยละ 7.73 ปริญญาตรี.-สำนักข่าวไทย