รัฐสภา 8 ก.พ.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกวาระ 2-3 เพื่อให้การใช้ที่ดินภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ (8 ก.พ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วาระ 2 และ 3 โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวสรุปผลการดำเนินการว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้นำข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาประกอบการพิจารณา โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ มีจำนวน 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา ตัดออกจำนวน 2 มาตรา เพิ่มขึ้นใหม่ 5 มาตรา มีกรรมาธิการสงวนความเห็น 2 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้การใช้ที่ดินภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกัน สมาชิก สนช.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 10 เรื่องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ยังกังวลเรื่องผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพราะการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้มีการเปิดกว้างและมีบุคคลหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลเกิดปัญหาด้านสังคมได้ จึงเสนอให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากจะช่วยให้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
ด้านนายวิษณุ ได้ตอบข้อเสนอนี้ว่า คณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้มีรัฐมนตรี ทั้งหมด 11 กระทรวง และได้เพิ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาแล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาครบรอบด้าน เชื่อว่า เป็นประโยชน์แก่การกำหนดนโยบายและการดำเนินการเขตพัฒนาพิเศษครอบคลุมแล้ว
ขณะที่นายวันชัย ศารทูลทัต สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 37 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ โดยเห็นว่า ไม่ควรจะอยู่ในอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งควรจะทำการศึกษาและรายงานผลกระทบเพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมองว่ากระบวนการไม่ได้ช้าที่กฎหมาย แต่จะช้าในกระบวนการประเมินผลสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯได้ตอบข้อซักถามว่า คณะกรรมาธิการฯไม่ได้มุ่งหมายจะใช้อำนาจการเดินเรือในทุกทาง แต่เพื่อให้การดำเนินการนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และให้เกิดการบูรณาการในการทำงานของภาครัฐ ให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 40 วรรค 2 ที่ระบุว่า ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ประโยชน์ ผลกระทบ และมาตราเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการจัดทำเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจฯเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่มีผู้อยู่อาศัยซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานใช่หรือไม่ และจะมีการเคลื่อนย้ายหรือเยียวยาแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนการจัดเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจฯอย่างไร
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล กรรมาธิการข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 48 และมาตรา 49 ได้อภิปรายว่า การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว และคนต่างด้าวที่มาลงทุน รวมถึงหากกำหนดแยกประเภทของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถพิเศษซึ่งเป็นคนต่างด้าว อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งการบิดเบือนและอ้างว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ เพื่อให้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จะทำให้เกิดการเก็งกำไรในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อประเทศระยะยาว
จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย