กรุงเทพฯ 2 ก.พ.- คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตั้งเป้ายกเลิกกฎหมายล้าสมัย กฎหมายที่ไม่ผลทางปฏิบัติ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.พ.) คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย เปิดรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปกฎหมาย โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายมีหน้าที่ในการเสนอแผนที่จัดทำไว้ 5 ปี อาทิ การยกเลิกกฎหมายล้าสมัย ที่บัญญัติก่อนปี 2500 และเตรียมเสนอยกเลิกกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ไม่มีผลทางปฏิบัติ หรือสร้างปัญหาต่อประชาชน ให้อนุกรรมการระดับกระทรวงดำเนินการ หากไม่ดำเนินการเร่งรัด ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเร่งรัดต่อไป
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน มีอำนาจในการเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี และสามารถเสนอความเห็นระหว่างการพิจารณากฎหมาย ที่ผ่านมาได้เร่งรัดร่างกฎหมาย ที่เสนอมาจาก สปช. และ สปท. 12 ฉบับ และได้เร่งรัด จัดทำ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกว่า 24 ฉบับ โดยได้ยกร่าง ปรับปรุง หรือ ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจของประชาชน ให้มีความทันสมัย รองรับไทยแลนด์ 4.0 เป็นการดำเนินการแบบ “ทวิยุทธศาสตร์” แปลว่า “ทางใคร-ใครเลือก” คือ การผลักดันกลุ่มที่พร้อมแข่งขันในระดับนานาชาติ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศพร้อมกันด้วย
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และกรรมการในคณะอนุกรรมการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ หรือดำเนินธุรกิจของประชาชน กล่าว เนื่องจากปัจจุบันพบว่า กฎหมายไทยยังคงมีความยุ่งยากซับซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึง เป็นกาจำกัดสิทธิ และเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนมาก
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ต้องมีการปฏิรูปประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และลดความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยแบ่งการดำเนินการ ระยะแรก คือ การแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเรื่องขอมติจากคณะรัฐมนตรี
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ระยะที่ 2 ทบทวนกฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องขออนุญาตจากรัฐ ก่อนประกอบธุรกิจ จากเดิมที่มีทั้งหมด 6,000 ฉบับ เหลือ 1,500 ฉบับ โดยจะมีศูนย์รวมที่ส่วนกลางเท่านั้น จะไม่มีส่วนท้องถิ่นอีกต่อไป เพื่อลดความยุ่งยากในการขออนุญาต ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังลดช่องทางในการทุจริต หรือประพฤติมิชอบของหน่วยงานได้มาก จะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2561
นายกอบศักดิ์ มั่นใจว่า การปฎิรูปกฎหมายจะสามารถดำเนินการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น กฎหมายที่มิชอบ และกฎหมายที่ไม่ได้มีการบังคับใช้มานาน เพื่อจัดหมวดหมู่ อำนวยความสะดวก เพิ่มขีดการแข่งขัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ หลังจากการชี้แจงหลักการของคณะกรรมการชุดต่างๆ แล้ว ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปกฏหมายด้านต่างๆ ด้วย .- สำนักข่าวไทย