สำนักงาน กสม.2 ก.พ.- กสม.ยุติสอบ นศ.นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ อ้าง คสช.ไม่ชี้แจงอุ้มนักศึกษา เตรียมส่งผลพิจารณาให้รัฐบาล-คสช.
นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลการตรวจสอบกรณีนักศึกษาจำนวน 3 คน ยื่นคำร้องต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หทาร และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ขัดขวางไม่ให้เดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ว่า ที่ประชุม กสม. เห็นว่าประเด็นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสกัดกั้น กลุ่ม นศ.ไม่ให้เดินทาง ดำเนินการตามกฎหมายความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน ที่สามารถทำได้
ประธาน กสม. กล่าวว่า ส่วนการควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 9 จ.นครปฐม ไม่ใช่เป็นการจับกุมหรือคุมขังที่จะต้องกระทำโดยอาศัยหมายของศาลหรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบกับทาง คสช.ไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีที่ กสม.สอบถาม ว่า คสช.อาศัยอำนาจใดในการควบคุมตัว นศ.ที่เดินทางไปทั้ง 3 คน จึงมีมติให้ยุติเรื่อง เนื่องจากพยานหลักฐานที่มีไม่เพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัย
นายวัส กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ ไปยังกระทรวงกลาโหม และ คสช. ประกอบด้วย การใช้อำนาจหน้าที่ตามคำสั่ง คสช.ที่ 3 /2558 เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เฉพาะเจาะจง ไม่ตีความให้นำไปสู่การกระทำใด ที่กระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพ ของบุคคล จนเกินความจำเป็น หรือ ละเมิดสิทธิ์ รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้สาธารณะชนได้รับทราบเหตุผลความจำเป็น ของการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดเจน และ ขอให้ กระทรวงกลาโหมและ คสช.ให้ความร่วมมือ ต่อกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ของ กสม.ในอนาคต ต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามภายใน 2- 3 วัน กสม.จะส่งมติเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวง กลาโหมและ คสช. เพื่อรับทราบ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลและ คสช. ด้วยดี
“การจะพิจารณาประเด็นปัญหานี้ให้ได้ข้อยุติ จำเป็นต้องได้รับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานของทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ โดยสำนักงาน กสม. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อขัดข้อง และแม้จะพิจารณาตรวจสอบไปตามพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วก็ยังมิอาจได้ข้อยุติที่ชัดเจนว่าการควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวก ผู้ถูกร้องได้ใช้อำนาจตามกฎหมายใด และไม่อาจพิจารณาได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกหรือไม่” นายวัส กล่าว
นายวัส ยังกล่าวถึงกรณีที่การให้ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า ที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่หากไม่ให้ความร่วมมือ กสม.ก็สามารถแสวงหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ทั้งนี้ตนได้ลงนามในร่างระเบียบ ว่าด้วยการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน ที่ส่งไปประกาศในราชกิจจาฯ ซึ่งเนื้อหากำหนดว่า ให้เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่หากไม่ชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด กสม.จะฟังข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลร้ายแก่คู่กรณี บุคคลและองค์กรหน่วยงานนั้น ๆ .-สำนักข่าวไทย