กรุงเทพฯ1 ก.พ. – กลุ่มบางจากฯ เล็งทุ่มกว่า 30,000 ล้านบาท ขยายไลน์ธุรกิจใหม่ สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว-นวัตกรรรมในพื้นที่อีอีซี โดยแผน 5 ปี ลงทุนรวม 110,000 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บางจากวางแผนจะลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลงทุนด้านไบโอเบสหรืออุตสาหกรรมชีวภาพทั้งด้านอาหาร ยา ระบบสำรองไฟฟ้า หรือเอนเนอร์ยี่สตอเรจ และงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะต่อยอดจากกิจการที่บางจากลงทุนไว้แล้วทั้งไบโอดีเซล เอทานอล เหมืองลิเธียมในต่างประเทศ ซึ่งตามสัญญาบางจากเป็นเจ้าของลิเธียม 2,500 ตัน/ปี จะสามารถผลิตแบตมือถือได้ 800 ล้านเครื่อง แบตรถไฟฟ้าหรืออีวี 150,000 คัน
โดยแผนงานของกลุ่มบางจากจะลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า 110,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของบางจากเองร้อยละ 50 ในจำนวนนี้มีการขยายกำลังกลั่นด้วยจาก 120,000 บาร์เรล/วัน เป็น 133,000-140,000 บาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตาม จากที่บางจากทำธุรกิจที่หลากหลายด้านจะทำให้อีบิทด้าในส่วนของโรงกลั่นลดลงจากร้อยะ 50 เหลือร้อยละ 35 ใน 5 ปีข้างหน้า และปลายปีนี้บริษัท บีบีจีไอ บริษัทในเครือด้านธุรกิจชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลจะกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
“เงินลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า 1/3 หรือกว่า 30,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสินคัาเกษตรไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ทิศทางโลกที่เทรนด์กำลังต้องการสินค้าสีเขียวหรือลดมลพิษ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันก็ยังอยู่ในระหว่างการขยายกำลังการผลิตด้วยเทคโนโลยี Continuous Catalyst Regeneration (CCR) ซึ่งเป็นหน่วยที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันใส และ Hydrocracker Unit (HCU) รวมถึงจะมีการเพิ่มกำลังกลั่นแบบ Debottlenecking ซึ่งจะทำให้กำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 133,000-140,000 บาร์เรล/วันในปี 2563 จากระดับ 120,000 บาร์เรล/วันในปัจจุบัน
ด้านธุรกิจการตลาดจะสร้างระบบนิเวศน์สีเขียวและประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Eco System) เพิ่มความทันสมัยในทำเลยุทธศาสตร์ในรูปแบบ Greenovative Experience และจะนำระบบดิจิทัลมาใช้ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ รวมถึงมีแผนขยายธุรกิจร้าน SPAR Supermarket และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเกษตรกรไทยไปจำหน่ายในร้าน SPAR ในสาขาต่างประเทศและการขยายร้านกาแฟอินทนิล รวมถึงสถานีบริการน้ำมันเข้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย
ส่วนธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่จะพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และธุรกิจ Start up ผ่านศูนย์ Bangchak Initiative and Innovation Center (BIIC) ของบริษัท โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพลังงานและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยในปัจจุบันบริษัทร่วมเป็นสมาชิกของ Plug & Play Tech Center เพื่อมองหา (Scout) ธุรกิจ Start up ที่น่าลงทุนจาก 3 แหล่งการลงทุนที่มีศักยภาพ ทั้ง Silicon valley ประเทศสหรัฐอเมริกา, TEL Aviv ประเทศอิสราเอล และประเทศจีน โดยมีเป้าหมายจะเงินลงทุนใน Start up ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีข้างหน้าวางเป้าหมายที่จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 14 มาที่ 25,000 ล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 11,400 ล้านบาทในปี 2559 โดยจะมีสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจโรงกลั่น เหลือร้อยละ 35 จากร้อยละ 50 ,ธุรกิจการตลาด เหลือ ร้อยละ 20 จากร้อยละ 22 , ธุรกิจไฟฟ้า เพิ่มเป็นร้อยละ 24 จากร้อยละ 22 , ธุรกิจ Bio-Based Products อยู่ที่ร้อยละ 9 จากร้อยละ 3 ,ธุรกิจ Resource เป็นร้อยละ 7 จากร้อยละ 3 เป็นต้น
สำหรับแผนธุรกิจปี 2561 บริษัทคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 200,000 ล้านบาท จากประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว หลังคาดว่าราคาน้ำมันดิบมีทิศทางที่สูงขึ้นมาที่เฉลี่ย 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากประมาณ 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว ขณะที่ยังมีรายได้จากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ของกลุ่มบริษัทเข้ามาร่วมด้วย แม้ว่าภาพรวมของกำลังการกลั่นน้ำมันในปีนี้จะทำได้ประมาณ 102,000 บาร์เรล/วัน ต่ำกว่าระดับประมาณ 111,000 บาร์เรล/วันในปีที่แล้ว เพราะมีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เป็นเวลา 45 วัน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-15 มิถุนายน 2561.- สำนักข่าวไทย