รัฐตั้งเป้ายอดลงทุนอีอีซีปีนี้ 300,000 ล้านบาท

กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – รัฐบาลตั้งเป้ายอดเงินลงทุนอีอีซีปีนี้ 300,000 ล้านบาท พร้อมไฟเขียวเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ รองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ครั้งที่ 4 (1/2561) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการหลายด้านที่เสนอโดยสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ… คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้วทุกมาตรา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 และคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ด้านการลงทุนอุตสาหรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรฐษกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่ามียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปี 2560 รวมเป็นเงินลงทุน 296,890 ล้านบาท โดยปี 2561 มีเป้าหมายการลงทุน 300,000 ล้านบาท เทียบกับ 199,327 ล้านบาทในปี 2559 โดยร้อยละ 84 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง คิดเป็นร้อยละ 84 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ได้แก่ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออกได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มในการยกเว้นภาษีนิติบุคคลอีก 2 ปี รวมแล้ว 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่าร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 50 คน เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่าร้อยละ  10 ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 50 คน เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลร้อยละ  50 เพิ่มอีก 3 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่าร้อยละ 5 ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 25 คน


การพัฒนาบุคลากรในอีอีซี ตามมติ กนศ.ครั้งที่ 3/2560 สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ อนุมัติร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากรฯ เมื่อการประชุมครั้งก่อน  สกรศ.ได้นำแผนไปรับฟังความคิดเห็นที่ฉะเชิงเทราและชลบุรี สรุปได้ว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาด้านพัฒนาบุคลากรที่ต้องสร้างเยาวชนให้มีความรู้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลักและขณะนี้มีการทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกันของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกระดับ 

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณและ สกรศ.ร่วมกันปรับปรุงรายละเอียดโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนตามวัตถุประสงค์การพัฒนาบุคลากรในอีอีซี โดยปรับลดเหลือ 15 โครงการ วงเงิน 589 ล้านบาท จากที่เคยได้รับความเห็นชอบให้เสนอขอรับจัดสรรงบกลางไว้ 861 ล้านบาท

ด้านการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกาศเพิ่มอีก 19 แห่ง โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมครบถ้วนแล้ว ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ และประมาณว่าจะรองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย ระยอง  6 แห่ง ชลบุรี 12 แห่ง และฉะเชิงเทรา 1 แห่ง  นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ผ่านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและเปิดดำเนินการอยู่แล้ว  แต่ยังมีที่ดินที่เหลืออยู่ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี จึงไม่จำเป็นต้องนำที่ดินอื่น ๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาประกอบอุตสาหกรรม


สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับ สกรศ.เสนอกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานที่เป็นนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าร้อยละ 51 ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นในอีอีซี โดยต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือหน่วยซ่อมอากาศยาน ได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต) มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามใบรับรองแบบหรือมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน  มีการควบคุมคุณภาพการผลิต หรือการซ่อม  เงื่อนไขประกอบการพิจารณา โดยจะมีการพิจารณาเงื่อนไขในการพิจารณา 2 เรื่อง ระดับเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย และแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

ด้านแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานฯ (ผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธาน) โดยให้เพิ่มเรื่องดิจิทัลและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนปฏิบัติการฯ นี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ  คือ มุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียง ให้อีอีซี เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ให้อีอีซี  เชื่อมต่อกับกรุงเทพได้อย่างสมบูรณ์  รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความอัดแอของกรุงเทพฯในอนาคต  โดยประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพและอีอีซี เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเสมือนเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิและเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ แผนนี้ประกอบด้วยโครงการ ระยะสั้น-กลาง-ยาว 168 โครงการ ในกรอบวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท และประมาณว่าการลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณร้อยละ 30 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10 และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ร้อยละ 60

สำหรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ที่มีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน  แผนปฏิบัติการนี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ มุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในอีอีซี สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  กลุ่มครอบครัวและนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ประมาณว่าใน 4 ปีเมื่อระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์ขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวในอีอีซีเพิ่มขึ้นเป็น 47 ล้านคนจาก 30 ล้านคนในปัจจุบัน ประชาชนได้รายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 500,000 ล้านบาท จาก 300,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแผนฯ นี้ จึงได้เสนอโครงการภายใต้แผนฯ 53 โครงการ ในกรอบวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณร้อยละ 25  งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 1 และรัฐร่วมทุนเอกชนร้อยละ 74.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

เขากระโดง

“อนุทิน” ยัน เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ไม่เคยขัดแย้งปมเขากระโดง

“อนุทิน” ย้ำพรรคร่วมรัฐบาลมีเป้าหมายเหมือนกัน ทำประโยชน์ให้ประชาชน-ประเทศ หลัง “ทักษิณ” ชมพรรคร่วมสามัคคีกันดี ยันเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ไม่เคยขัดแย้งปมเขากระโดง ขอคนไม่อยู่ในวงอย่าคาดคะเน ชี้ไม่มีเหตุผลต้องปกป้องผลประโยชน์ใคร โอดกว่าจะนั่งคุม มท. แทบตาย ไม่ให้ใครมาด่าสาดเสียเทเสีย

สนามบินสุวรรณภูมิ

ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” 1 ใน 6 สนามบินสวยสุดในโลก

“สุริยะ” รมว.คมนาคม ปลื้ม ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ด้าน “อาคาร SAT-1” สุดปัง! หลังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดของโลก โชว์ความโดดเด่นด้านความงาม-ความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย จ่อประกาศผล 2 ธ.ค.นี้

รฟท. คัดค้านคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนเขากระโดง

การรถไฟฯ ลุยยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน คัดค้านคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง ย้ำปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใสและเป็นธรรม