รร.เซ็นจูรี่ พาร์ค 31 ม.ค.-รัฐบาลเดินหน้าผลักดันกม.วิสาหกิจเพื่อสังคม เชื่อจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือสังคม จากธุรกิจรายเล็กๆจำนวนมาก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเวทีรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. …. ว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศและเติบโตได้ดี และมีหลายรูปแบบหลากหลาย สามารถทำควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจได้ และเกิดขึ้นนับพันแห่งในอังกฤษ เอกชนบางรายขายรองเท้า 1 คู่ หรือ แว่นตา 1 อัน สัญญาว่าจะส่งไปช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา 1 คู่ จึงทำให้ผู้ซื้อได้ร่วมทำบุญช่วยเหลือสังคมได้ ดังนั้นการ ยกร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม หวังส่งเสริมการช่วยเหลือสังคมและมีกฎหมายรองรับ มีมาตรการสนับสนุน จึงคาดว่าจะเกิดองค์กรภาคที่สาม ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เอกชน เป็นองค์กรเพื่อสังคมเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก หากส่งเสริมหลายองค์กร หลายบริษัท หลายภาคส่วนมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีกจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าสัว บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีทุนจำนวนมากคอยยื่นเข้ามาช่วยเหลือ
แต่หากมี พ.ร.บ.วิสหากิจเพื่อสังคม คนที่มีแรงบันดาลใจแม้เป็นคนตัวเล็กแม้ทุนน้อย ยังช่วยเหลือสังคมได้ อย่างเช่น ครูมุก ในจังหวัดพะเยาว์ ไม่มีทุนช่วยเหลือสังคม แต่ต้องการช่วยเหลือสังคมได้ก็สามารถช่วยได้ ,บริษัท อภัยภูเบศก์ นำความรู้สมุนไพร แปลงเป็นรายได้ เลม่อนฟาร์ม หรือแม่ฟ้าหลวง นำสินค้าสุขภาพดูแลชุมชน หากมีกฎหมายรองรับธุรกิจเพื่อสังคมจะเติบโต และขยายวงกว้างมากขึ้น ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีกองทุนหมุนเวียนเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อเป็นทุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคม กำหนดให้นำกำไรร้อยละ 70 ไปช่วยเหลือสังคม ส่วนอีกร้อยละ 30 ใช้หมุนเวียนกิจการ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการผลักดันร่างกฎหมาย จากสภา สปท.ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ยืนยันว่าจะผลักดันกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ เสนอ ครม.ให้ได้ภายใน 1 เดือน จากนั้นเสนอสภา สนช.คาดว่ามีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีนี้
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นกลสำคัญช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และส่ิงแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแข่งขันทางการค้า จึงได้กำหนดคำนิยาม “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ให้ครอบคลุมถึงบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลอื่น เช่น มูลนิธิ สมาคม เพื่อกำหนดให้มีลักษณะชัดเจนมากขึ้น ด้วยการตั้ง “กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” บริหารแบบกองทุนหมุนเวียนมีรายได้กลับเข้ามาจากผลกำไรของวิสาหกิจเพื่อสังคม ติดตามผลกองทุนเมื่อครบ เวลา 5 ปี เพื่อให้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ลงทุนในหุ้นกับวิสาหกิจเพื่อสังคม การสนับสนุนเงินทุน และได้กำหนดบทลงโทษ หากนำคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ไปใช้ดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดทางแพ่งปรับวันละ 2,000 บาท เมื่อมีกฎหมายรองรับและสร้างความเชื่อมั่นจะทำให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย