มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 26 ม.ค.- “ปริญญา” ระบุเลื่อนเลือกตั้งทำให้ความน่าเชื่อถือของนายกฯ และรัฐบาลลดลง แนะเลิกใช้ม.44 เปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความเห็น
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ ขยายเวลาออกไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า
ในอดีตที่มีการยึดอำนาจทุกครั้งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะเขียนไว้เสมอว่าต้องเลือกตั้งภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทุกครั้งที่ผ่านมาจึงเลือกตั้งเร็ว เช่นปี 2534 ยึดอำนาจและใช้เวลาเลือกตั้งภายใน 1 ปี 1 เดือน จากนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาให้นับตั้งแต่วันที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้ ทำให้กรอบเวลาขยับมา จากเดิมที่นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีที่มาจากการยึดอำนาจและรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งนี้จะพบว่าไม่เหมือนกันเพราะไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ตายตัว และยังสามารถขยายเวลาไปได้เรื่อย ๆ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และแน่นอนวันนี้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปแล้ว
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกครั้งเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับชั่วคราวจะสิ้นสภาพไปพร้อมกับมาตรา 44 แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว แต่มาตรา 44 ยังอยู่ ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ และความหมายคือการเลือกตั้งเท่ากับไม่ใช่การเลือกตั้งด้วยตัวของมันเอง เพราะตราบใดยังไม่มีครม.ชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ตราบนั้น มาตรา 44 ยังคงอยู่ไปเรื่อย ๆ และเมื่อขยายเวลาออกไปไม่ใช่เรื่องดี เท่ากับประเทศไทยยังกลับสู่สภาวะปกติไม่ได้ และสำคัญที่สุดว่าถ้าขยายเวลาครั้งนี้ได้ก็จะขยายได้อีก เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลก็ทำมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นการขยายโรดแมปเลือกตั้งครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่ความเชื่อถือของคนจะดูจากสิ่งที่ผ่านมา
“ผมไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรี หรือ คสช. ไม่น่าเชื่อถือเพียงแต่คราวนี้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของท่านให้ลดลง คือไม่อยากให้มองว่าสนช.ยกมือผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาใจ คสช. ในการให้เป็น ส.ว.ต่อ ซึ่งไม่ดีเลยกับสนช.และคสช.เอง เพราะเชื่อว่ามีสมาชิกหลายคนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ภาพจะปรากฎชัดเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.ว่า คสช.จะเลือกใครบ้าง เพราะกรอบเวลา 150 วันเริ่มนับเมื่อกฎหมายลูกมีผลใช้บังคับและเมื่อเลื่อนการบังคับใช้ไป 90 วัน ก็แปลว่าการเลือกตั้งได้เลื่อนไปแล้ว 90 วัน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้กางปฎิทินให้ดูแล้วว่าหากเลื่อนไปจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2562”นายปริญญา กล่าว
เมื่อถามถึงการห้ามรณรงค์โหวตโน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อมีมาตรา 44 บังคับใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ก็สามารถออกคำสั่งห้ามการกระทำใด ๆ ได้ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการห้ามนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นว่ามีหลายคำสั่งเกิดขึ้น
“ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว แต่เรากลับใช้ไม่ได้เพราะมีมาตรา 44 คุมอยู่ คือแม้จะมีรัฐธรรมนูญแต่ยังสามารถถูกจับในข้อหามั่วสุม 5 คนขึ้นไปได้อยู่เลย มันไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ดีต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลคสช.เพราะว่าเรามีโรดแมปแล้ว มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศใช้แล้ว หรือจะเป็นสิ่งดีหากหลีกเลี่ยงหรือไม่ใช่มาตรา 44 อีก รวมถึงรัฐบาลคสช.ควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมากกว่านี้” นายปริญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย