กทม. 27 ม.ค.-นักการตลาดและแบรนด์ วิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาด ของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป แฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ที่กำลังเป็นกระแสดังอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งประเด็น การครอบงำทางวัฒนธรรม
ศิลปินสาวน้อยหน้าใสกลุ่มนี้กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เอ็มวีเพลงแรกของพวกเธอ มียอดเข้าชมทะลุ 21 ล้านวิว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลงไทย ที่ใครๆ ก็ต้องพูดถึง
นักการตลาดและแบรนด์วิเคราะห์ว่า นี่คือสูตรสำเร็จของการสร้างศิลปิน ด้วยเพลงที่ฟังง่าย ติดหู คนร้องซ้ำได้ ท่าเต้นที่ไม่ยากเกินไป สามารถเต้นตามได้ มีการออกแบบเครื่องแต่งกายให้เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในไทยเองมีกระแสบอยแบรนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป มานานแล้ว ตั้งแต่ยุคเดอะบีเทิลส์ ที่นักร้องเล่นดนตรีได้ หรืออย่างสไปซ์เกิลส์ ที่เริ่มเน้นการเต้นมากขึ้น เรื่อยมาจนเข้าสู่ยุค เคป็อบ อย่าง ทูพีเอ็ม หรือ เกิลส์เจเนอเรชัน
ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในศิลปินยุคใหม่คือ การเน้นให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ง่าย ศิลปินจึงไม่จำเป็นต้องสวยหล่อ เก่งสมบูรณ์แบบ แต่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน
ความใหม่อีกอย่างคือการเป็นแฟรนส์ไชส์ ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้เน้นความเป็นเจ-ป๊อบ ซึ่งบริษัทต้นสังกัดในญี่ปุ่นมีการกำหนดชัดเจนว่าต้องทำตามข้อกำหนดของอย่างเคร่งครัด ในการวางตัวตนของกลุ่มศิลปิน โดยเน้นการทำตลาดออนไลน์ มีกิจกรมถายทอดสดทางยูทูปและเฟชบุ๊ก รายได้หลักมักมาจากเป็นการขายสินค้า ของที่ระลึก ภาพถ่าย แม้แต่การขอจับมือ รวมทั้งการจัดพื้นที่แสดงโชว์ที่จะหมุนเวียนในสมาชิกวงมาร้องเพลง และทำกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับ
ขณะที่มีคำถามว่ากระแสแฟรนส์ไชส์และเกิร์ลกรุ๊ปนี้จะทำให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรมหรือไม่ นักการตลาดมองว่า มันคือแฟชั่น มีความนิยมช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็หายไป เช่นเดียวกับที่ผ่านมาที่มีศิลปินกลุ่มจากต่างประเทศมากมายที่ได้รับความนิยมในไทย แม้มีการเลียนแบบศิลปินที่ชื่นชอบบ้าง แต่ก็ไม่นาน ที่สำคัญด้วยลักษณะนิสัยของคนไทยเองก็มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติอื่น ขณะที่คนไทยในยุคปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย