กรุงเทพฯ 26 ม.ค. – ผู้ว่าการธปท.เผยติดตามการเคลื่อนไหวเงินบาทมากขึ้น หลังเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว จนกังวลว่า อาจจะกระทบเศรษฐกิจ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท. กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ธปท. จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด พร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ และกำชับสถานบันการเงินให้มีความเข้มงวดในการทำธุรกรรมว่าผิดหลักการหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงที่มีธุรกรรมหนาแน่น อย่างไรดีหากธปท. พบว่ามีความผิดปกติจะแจ้งข้อมูลต่อไป
นายวิรไท กล่าวว่า ค่าเงินเปรียบเสมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน มีทั้งผลกระทบด้านบวกและลบ นโยบายเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนโยบายที่ต้องดูแลคนหลายกลุ่ม เพราะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นวิธีที่จะดูแล คือไม่มองระยะสั้น แต่ต้องมองในระยะไกลและมองผลประโยชน์โดยรวมเป็นหลักไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นภาคเอกชนต้องบริหารความเสี่ยง และควรตั้งราคาสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น หรือเงินสกุลบาท เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไปยังสหรัฐมีสัดส่วนร้อยละ 10-11 ของการส่งออกรวม จึงสามารถดำเนินการได้
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก คือ เงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนในระยะสั้น จากคำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐและ รัฐมนตรีคลังสหรัฐที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลใหญ่ เมื่อมีความผันผวนย่อมกระทบต่อเงินสกุลทั่วโลก อย่างไรก็ตามเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทางทั้งแข็งค่า และ อ่อนค่า ดังนั้นนักลงทุนที่จะเก็งกำไรค่าเงินต้องระมัดระวัง อาจมีความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในประเทศจากการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งธปท มีนโยบายดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไปจนกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งมีเครื่องมือที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจก็มีทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ตามโครงสร้างธุรกิจ หากเอกชนทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา ก็คงจะประสบปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านราคา แต่หากเป็นผู้นำเข้าก็จะได้ประโยชน์เพราะต้นทุนในการนำเข้าต่ำลง .-สำนักข่าวไทย