กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – รฟท.ยืนยันค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรเหมาะสม มีความชอบธรรมบริหารและมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เร่งแก้ปัญหาเช่าช่วงหลังค่าเช่าบางแผงสูงถึงหลักแสน
นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่ง ประเทศไทย (รฟท.)เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรออกมาร้องเรียนค่าเช่าแผงแพง หลัง รฟท.เข้ามาบริหารพื้นที่แทน กทม.และอยากให้ กทม.กลับมาบริหารพื้นที่ ว่า รฟท.ขอชี้แจงว่าปัจจุบันพื้นที่เช่าของผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรที่มีกว่า 10,000 ร้าน บนเนื้อที่ 70 ไร่ แบ่งออกเป็น 30 โครงการ โดย รฟท.เก็บค่าเช่ารวมกับค่าบริหารจัดการ 3,157 บาทต่อล็อคต่อเดือน ตามข้อเท็จจริงเป็นค่าเช่าพื้นที่ในวงเงินดังกล่าว 890 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าสาธารณูปโภคทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีต้นทุนเดือนละ 5.3 ล้านบาท ค่าจ้างจัดการเกี่ยวกับขยะอีกเดือนละ 4.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ รฟท.ยืนยันว่าค่าเช่าดังกล่าวเหมาะสม เนื่องจากค่าเช่าที่ กทม.เคยจัดเก็บในอดีต 600 บาทต่อล็อคต่อเดือนนั้น เป็นค่าเช่าที่เคยทำสัญญาเช่ากับ รฟท.จ่ายค่าเช่าเพียงปีละ 1.6 ล้านบาท และในช่วงที่มีการขอพื้นที่คืนจาก กทม. รฟท.จึงยื่นข้อเสนอว่าหาก กทม.มีความประสงค์บริหารพื้นที่ต่อก็ต้องเสียค่าเช่าให้ รฟท.ตามผลการศึกษาทางวิชาการที่มาจากสภาพทำเลปีละกว่า 400 ล้านบาท แต่ กทม.ต่อรองขอเช่าราคา 79 ล้านบาท หาก กทม.เป็นผู้บริหารปัจจุบันตามต้นทุนคาเช่าที่ กทม.จ่ายเพิ่มจากปีละ 1.6 เป็น 79 ล้านบาท ก็ต้องปรับค่าเช่าขึ้นอยู่ดี รวมทั้ง กทม.ยังมีความได้เปรียบสามารถบริหารต้นทุนแฝงในประเด็นจัดการขยะต่าง ๆ ก็มีสำนักงานจัดการแต่ละเขต ซึ่งใช้ภาษีของ กทม.บริหารจัดการ จึงทำให้ไม่มีต้นทุนส่วนนี้ จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ข้อเท็จจริงพบว่าค่าเช่า 3,157 บาทต่อล็อคต่อเดือน เฉลี่ยผู้เช่าจะได้ขายสินค้าแต่ละเดือน 8 วัน พบว่าเป็นค่าเช่าแต่ละวันเพียง 390 บาทเท่านั้น ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับทำเลตลาดนัดจตุจักรที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติมาจับจ่ายใช้สอย
ขณะที่ปัญหาเช่าช่วงนั้น รฟท.ยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ผิด เนื่องจากสัญญาผู้ประกอบการแต่ละรายมีต่อ รฟท.ระบุชัดเจนว่าผู้เช่าต้องเป็นผู้ขายเอง แต่ปัจจุบันผู้ค้าทั้งหมดประมาณร้อยละ 90 ล้วนเป็นผู้เช่าช่วงทั้งสิ้น ซึ่งปีนี้และก่อนที่จะหมดสัญญาเช่าของผู้ค้าที่ทำสัญญา 5 ปี และจะหมดสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 รฟท.จะลงสำรวจพื้นที่หากพบว่าผู้ค้ารายใดเป็นผู้เช่าช่วงก็จะตักเตือนตามลำดับขั้น 1 2 และ 3 ก่อนหามาตรการดำเนินการปัญหาเช่าช่วงต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจจะยกเลิกสัญญาหรือหาแนวทางนำผู้ที่มีความประสงค์เข้ามาทำการค้าในตลาดเข้ามาดำเนินการ ล่าสุด รฟท.ร่วมกับสถาบันการเงินเตรียมจัดทำโครงการให้สินเชื่อผู้ค้าในตลาดตัวจริงกู้เงินเพื่อเซ็งแผง เพื่อให้มีสิทธิ์ขาดทำการค้าได้ โดยยอมรับว่าปัจจุบันเช่าช่วงทำให้ค่าเช่าแผงบางพื้นที่สูงเป็นหลักแสนหลักล้าน
นอกจากนี้ รฟท.ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีผู้ค้าบางกลุ่มฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ กทม.กลับมาบริหารพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ศาลได้ชี้ขาดว่า รฟท.มีความชอบธรรมทางกฎหมายที่จะเป็นผู้บริหารและจัดเก็บค่าเช่าในปัจจุบัน โดยคดีที่ฟ้องลักษณะเดียวกันเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปตามคำวินิจฉัยของศาล ส่วนปัญหาค้างชำระค่าเช่าแผง ที่ผ่านมามีผู้เช่าบางรายไม่ยอมชำระค่าเช่าและพบว่ามียอดค้างสูงถึง 440 ล้านบาท รฟท.ได้ฟ้องร้องบังคับคดีทางแพ่ง ทำให้ผู้เช่าทยอยชำระค่าเช่าแล้ว ทำให้ยอดดังกล่าวลดเหลือ 392 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนปรับปรุงตลาดครั้งใหญ่ทั้งภูมิทัศน์ การพัฒนาที่จอดรถ ซึ่งจะเริ่มเห็นความชัดเจนเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งทำแอพพลิเคชั่นจตุจักรไกด์ เพื่อเป็นข้อมูลสินค้าต่าง ๆ อำนวยความสะดวกผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้าถึงได้ง่าย.-สำนักข่าวไทย