เชียงใหม่ 23 ม.ค.-“กัญชง” หรือเฮมพ์ ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 แต่ด้วยคุณสมบัติของกัญชงที่ใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ทำให้มีการวิจัยเพื่อผลักดันให้เปลี่ยนจากพืชเสพติด ไปเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในอนาคต
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงปางดะทดลองปลูกกัญชงมาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสให้ศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชาวไทยภูเขา เพราะกัญชงมีศักยภาพที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะเมล็ดให้น้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ส่วนลำต้นมีความแข็งแรง และให้เส้นใยหนียว ก็สามารถใช้ทำวัสดุก่อสร้าง คอนกรีตบล็อก ทอเป็นผ้าพื้นเมือง และเครื่องแบบทหาร ทนทานและระบายอากาศได้ดี
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก หลักพันไร่ รวบรวมและปรับปรุงพันธุ์จากทั่วประเทศ จนได้สายพันธุ์ชั้นดี ให้ผลผลิตสูง เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ ให้ค่าสารเสพติดต่ำกว่าปริมาณที่กฎหมายกำหนด 4 สายพันธุ์
กัญชง หรือเฮมพ์ มีลักษณะคล้ายกัญชาจนแทบจะแยกไม่ออก แต่ปริมาณสารเสพติดน้อยกว่าหลายเท่า จึงไม่นิยมนำมาสูบหรือเสพ เพราะทำให้ปวดหัว ขณะที่กัญชงถูกจัดให้อยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชาและกระท่อม มาตั้งแต่ปี 2522 จึงไม่สามารถปลูกนอกพื้นที่ควบคุมได้ แม้ผลวิจัยเบื้องต้นจะพบว่าไม่นิยมในกลุ่มผู้เสพยา และมีศักยภาพต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจได้ก็ตาม
ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ปลูกกัญชงเพื่อการวิจัยในพื้นที่ควบคุมเท่านั้น และยังไม่มีแนวคิดเสนอให้ปลดออกจากบัญชียาเสพติดในเวลานี้ โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเป็นหน่วยงานหลัก มีพื้นที่ปลูกประมาณ 2,000 ไร่ อยู่ในแปลงสาธิตและกระจายให้ชาวเขาในพื้นที่สูงปลูก เพื่อผลิตเส้นใยใช้ทอเครื่องนุ่งห่ม และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เสริมรายได้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด.-สำนักข่าวไทย