ดินแดง19 ม.ค.-ก.แรงงาน เผยเตรียมลดภาษี1.5เท่าของค่าจ้างที่จ่ายและ เงินประกันสังคมร้อยละ 1หวังเอาใจนายจ้างแลกขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-22 บาททั่วประเทศ
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวง กล่าวว่า จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 โดยเพิ่มทุกจังหวัด 5-22 บาท ทำให้ค่าจ้างอัตราใหม่อยู่ที่ 308-330 บาท อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างภาคก่อสร้าง ภาคบริการ และภาคการเกษตร เป็นต้น ดังนั้นคณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง จึงยื่นข้อเสนอขอให้รัฐบาลช่วยอุ้มนายจ้าง โดยการลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.5 เท่าของค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง ซึ่งในที่ประชุมก็ยอมรับ และกระทรวงแรงงาน ได้เพิ่มข้อเสนอให้อีกคือ การลดเงินสมทบนายจ้างร้อยละ1 จากเดิมที่จ่ายร้อยละ 5 เป็นเวลา 1 ปีซึ่งทั้ง 2มาตรการจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพิจารณาความเหมาะสมของกระทรวงการคลังและสำนักงานประกันสังคมว่าจะทำได้หรือไม่
นางเพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินคาดว่ากระทรวงการคลังน่าจะลดภาษีได้ประมาณ 1.25 เท่า เป็นเวลา 1 ปี สำหรับประเด็นการลดเงินสมทบร้อยละ 1 นั้นก็จะกระทบกับเงินออมของผู้ประกันตนแต่เป็นจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งต้องยอมเพื่อช่วยนายจ้างให้สามารถปรับตัวได้ในช่วงปีนี้
ทั้งนี้ เหตุที่ตัวเลขการปรับขึ้นสูงสุด 22 บาท เนื่องจากปีนี้ทางบอร์ดค่าจ้าง นำปัจจัยหลายอย่างมาคิดเพิ่มจากเดิมที่มีหลักอยู่แล้ว เช่น ปัจจัยเชิงคุณภาพแต่ละจังหวัด อัตราเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 61เป็นต้น จึงทำให้การปรับค่าจ้างขึ้นสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงาน ได้รับประโยชน์ในการปรับขึ้น แบ่งเป็น แรงงานไทยในระบบประกันสังคมที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวน 4 ล้านคน แรงงานในภาคเกษตร 14 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าจ้างปีนี้ ถือเป็นการทำงานครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดที่ 20 ขึ้นมาทำหน้าที่ มีงานหลายอย่างที่ต้องส่งให้ดำเนินการต่อ โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือน สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไปเพื่อให้ลูกจ้างเห็นความชัดเจนว่าแต่ละปีจะขึ้นเท่าใด โดยการปรับขึ้นจะต้องอิงกับผลของการทำงาน .-สำนักข่าวไทย