กทม. 18 ม.ค.-สำนักข่าวไทยรวบรวมข้อมูลย้อนหลังอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเปรียบเทียบให้เห็นแนวโน้ม ตั้งแต่นโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ จนถึงปัจจุบัน 3 จังหวัด EEC ดูจะได้อานิสงส์มากที่สุด ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อัตราค่าจ้างยังต่ำที่สุดในประเทศ
ย้อนดูการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างเมื่อปี 2555 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำร่อง 7 จังหวัด ด้วยอัตรา 300 บาทต่อวัน คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ก่อนที่จะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค.2556
โดยบอร์ดค่าจ้างมีมติคงอัตรานี้เป็นเวลา 3 ปี จนถึงปี 2558 หากดูตัวเลขย้อนหลัง พื้นที่นำร่อง 300 บาท 7 จังหวัด ได้รับการปรับขึ้นอีก 10 บาท เริ่มใช้เมื่อ 1 ม.ค.2560 ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 325 บาท หรือเพิ่มขึ้น 15 บาท มีผล 1 เม.ย.นี้
ยกเว้นภูเก็ตที่ล่าสุดเตรียมปรับเป็น 330 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดของประเทศ เช่นเดียวกับระยองและชลบุรี ก่อนหน้านี้ปี 2560 ทั้งคู่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308 บาท ล่าสุดเตรียมปรับขึ้น 22 บาท เป็น 330 บาท แซงหน้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้ง 3 จังหวัดที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามจะผลักดันสู่ฮับการค้าการลงทุน อย่างฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
ปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง จะเห็นว่าในระยะเวลา 5-6 ปีมานี้ ค่าจ้างขั้นต่ำของ 3 จังหวัดนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 50 บาท รวมทั้งบอร์ดค่าจ้างฯ ยังเตรียมนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ ในการกำหนด “อัตราค่าจ้างลอยตัว” ในอนาคตอีกด้วย
หากดูกลุ่มจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าปี 2555 กลุ่มจังหวัดค่าจ้างน้อยที่สุด อยู่ที่ 222 บาท คือ พะเยา รองลงมาคือ ศรีสะเกษ 223 บาท และน่าน 225 บาท ซึ่งภายหลังปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศแล้ว กลุ่มจังหวัดที่ยังคงอัตรา 300 บาทมาจนถึงปีที่แล้ว คือ สิงห์บุรี ชุมพร ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระทั่งค่าจ้างอัตราใหม่ที่จะปรับในรอบหน้าก็ยังเป็น 3 จังหวัดค่าจ้างต่ำสุดรั้งท้ายที่ 308 บาทต่อวัน.-สำนักข่าวไทย