รัฐสภา 18 ม.ค.-“มีชัย” ชี้กรณี กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา สามารถทำได้ หากเห็นว่ายังไม่พร้อม แต่ต้องมีเหตุผลพอเพียง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว ว่า ตามปกติการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมาย สามารถทำได้ แม้จะประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับก็มีการกำหนดเช่นนั้น เนื่องจากสภาฯ เห็นว่าหากบังคับใช้ทันทีอาจมีผลกระทบ จึงสามารถขยับเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ 6 เดือน บางฉบับขยายเวลาการบังคับใช้ 1 ปี หรือบางฉบับไม่มีกรอบเวลา แต่ในการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปนั้น ต้องมีเหตุผลและสามารถอธิบายสังคมได้ สำหรับกฎหมาย ลูก ส.ส. จะมีการขยายเวลาหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯ ของ สนช. ดังนั้นจึงไม่อยากแสดงความคิดเห็นกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญต้องรอฟังเหตุผลของกรรมาธิการฯ
ส่วนที่ สนช.ร่วมกันลงชื่อขอให้ประธาน สนช.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในประเด็นยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้กรรมการ ป.ป.ช.อยู่ต่อจนครบวาระนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องดี จะได้ข้อยุติในประเด็นที่เกิดข้อสงสัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งตนไม่ขอแสดงความเห็น
นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เดินทางมาพบในวันนี้ (18 ม.ค.) ว่า เพื่อพูดคุยเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่าทำอย่างไรจะไม่เกิดการบล็อกโหวต ซึ่งตนได้แสดงความเห็นว่าในการลดจำนวนกลุ่มอาชีพ กับการเลือกภายในกลุ่มกันเอง จะทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ส่วนกรรมาธิการฯ จะเห็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการฯ ส่วนที่นายสมชาย เสนอให้การเปิดรับสมัคร ส.ว.ทำได้ 2 ช่องทาง คือสมัครด้วยตนเอง และผ่านองค์กรนั้น เห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ ดังนั้นการไปกำหนดให้ยื่นผ่านองค์กร อาจเป็นการจำกัดสิทธิ.-สำนักข่าวไทย