กทม. 12 ม.ค. – มีหลายคนสงสัยว่าหากบัตรประชาชนสูญหายจะสามารถอายัดได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มหรือไม่ วันนี้อธิบดีกรมการปกครองจะไขข้อสงสัยในเรื่องนี้
บัตรประจำตัวประชาชนเป็นบัตรที่เอาไว้ยืนยันตัวบุคคล ซึ่งจะระบุชื่อ วัน เดือน ปีเกิด ภาพถ่ายของบุคคลนั้น จึงไม่สามารถแจ้งอายัดได้เหมือนบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม ที่ตัวเลขหน้าบัตรสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อออกบัตรใหม่ แตกต่างจากเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนที่ได้รับติดตัวตั้งแต่เกิดจนตาย ถึงจะออกบัตรใบใหม่ก็ยังเป็นตัวเลขเดิม
กรณีการขอออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึก การแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย หรือถูกทำลาย ในใบ บ.ป.7 ซึ่งในระบบจะบันทึกทันทีว่าบัตรเก่าถูกยกเลิก หน่วยงานต่างๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครองได้ภายในเสี้ยววินาทีว่าบัตรที่นำมาใช้ถูกยกเลิกไปแล้วหรือยัง
สำหรับหน่วยงานธุรกิจต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ อธิบดีกรมการปกครองระบุว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าให้ชัดเจนก่อน อันดับแรก คือ ดูลักษณะกายภาพว่าเป็นบุคคลเดียวกับบัตรประจำตัวประชาชนนั้นหรือไม่ และควรเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลตรงกับหน้าบัตร หรือมีสถานะอย่างไร
ส่วนกรณีใครที่แจ้งทำบัตรหาย แต่ภายหลังไปพบบัตรเดิม อธิบดีกรมการปกครองแนะนำว่าควรตัดบัตรเก่าทิ้ง เพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ เพราะทางกฎหมายบัตรนั้นถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะการนำไปทำพาสปอร์ต ดังนั้นทุกคนควรเก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนให้ดี เพราะเป็นสิ่งที่ใช้แสดงและยืนยันตัวบุคคล หากเกิดการสูญต้องรีบแจ้งยกเลิก หรือจะลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้. – สำนักข่าวไทย