สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 11ม.ค.- ผู้ตรวจฯ ไล่บี้ ทอท.แก้ปัญหาอาหารแพง เตรียมลงพื้นที่ “ดอนเมือง” เดือนหน้า รับประชาชนกลับสงกรานต์
พล.อ.วิทวัส รชตนันท์ รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการขายสินค้าแพงของร้านค้าในท่าอากาศยาน ว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องของอาหารและน้ำดื่มแพงในท่าอากาศยาน ตั้งแต่ปี 2559 และลงพื้นที่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 โดยคาดหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากนัก และได้พบสัญญาที่ ทอท.ได้ทำกับร้านค้า โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สัญญาระบุว่ายอมให้ขายแพงกว่าราคาในห้างสรรพสินค้า 10-20 เปอร์เซ็นต์ และที่สุวรรณภูมิยอมให้ขายแพงราคาในห้างไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลปรากฎว่าทั้ง 2 แห่งมีการขายเกินราคา สูงกว่าที่กำหนด 40-50 เปอร์เซ็นต์
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า จึงมีข้อโต้แย้งจาก ทอท. และนำสู่การตั้งคณะทำงานที่มีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่สอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อกำหนดราคามาตราฐานในการอ้างอิง โดยให้ยกราคาของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน และเซ็นทรัล แต่ ทอท.กลับโต้แย้งโดยขอให้เพิ่มห้าง เอ็มควอเทียร์ และเซ็นทรัลแอมแบสซี่ ซึ่งในความเป็นจริงสัญญาที่ ทอท.ได้ทำไว้กับผู้ประกอบการ คือเมื่อปี 2548 ยังไม่มีการก่อตั้งห้างทั้งสอง ข้ออ้างดังกล่าวของ ทอท.จึงไม่สมเหตุสมผล ทอท.จึงต้องยอมจำนน
“เรื่องน้ำดื่มก็เช่นกัน พอเรากวดขันให้วางจำหน่ายในราคา 10 บาท เพราะน้ำดื่มเป็นสินค้าควบคุมราคา ไม่ว่าจะขายที่ใดในประเทศไทย ก็ต้องขายตามราคากำหนด ซึ่งปรากฎว่าผู้ประกอบการภายใต้สัญญาที่ควบคุมโดย ทอท. ก็นำน้ำดื่มออกและนำน้ำแร่เข้ามาแทน เนื่องจากน้ำแร่ไม่สามารถควบคุมราคาได้ โดยขายในสนามบิน ราคาตั้งแต่ 35 จนถึง 70 บาทก็มี ปัญหาดังกล่าวในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าภาระเหล่านี้เกินจำเป็นต่อประชาชน และสร้างความเดือดร้อน ซึ่ง ทอท.ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้” พล.อ.วิทวัสกล่าว
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ทอท.ได้ชี้แจงล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว โดยแจ้งว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากจะต้องแก้ไขตัวสัญญา ซึ่งเป็นจังหวะที่กฎหมายผู้ตรวจฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม จะทำให้คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับ หากหน่วยงานที่ไม่แก้ไขตามที่ผู้ตรวจฯ เสนอแนะ ผู้ตรวจฯ สามารถส่งเรื่องไปยังองค์กรอิสระอื่นให้ดำเนินการต่อได้ เราจึงยังไม่วินิจฉัยก่อนหน้านี้ แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ตรวจฯ จึงตั้งใจว่าจะลงพื้นที่อีกครั้งต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อนถึงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งประชาชนจะใช้เป็นเส้นทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดสงกรานต์
“ทอท.ไม่ต้องไปแก้ไขสัญญา เพราะในสัญญากำหนดไว้ชัดเจนว่า ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถขายอาหารได้สูงกว่าราคาในห้าง 10- 20 เปอร์เซนต์ สุวรรณภูมิ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ทอท.จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา เรื่องนี้ผมถือว่า ทอท.ไม่ทำตามกฎหมาย หากพบเอกชนรายใดไม่ทำตามสัญญา ทอท.ควรจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป ในฐานะที่ ทอท.เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐ” พล.อ.วิทวัส กล่าว
พล.อ.วิทวัส ยังกล่าวว่า ในการลงพื้นที่ในต้นเดือน ก.พ.นี้ จะเชิญกระทรวงพาณิชย์ และ สคบ. ไปร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ทราบว่านายกรัฐมนตรี ก็รับทราบปัญหาแล้ว และให้ความสนใจ เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นหน้าตาของประเทศ เราพึงรักษามาตราฐานของการทำงานและธรรมาภิบาล ซึ่งในการลงพื้นที่ก็หวังว่า ทอท.จะให้ความร่วมมือ ไปตรวจดูว่าสิ่งที่ตัวเองดำเนินการนั้นเป็นไปตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการจะแอบขึ้นราคาเองหรือไม่ เป็นเรื่องของ ทอท.ที่ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯพยายามเชิญผู้บริหารของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมหารือ แต่ก็มักถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งในกฎหมายใหม่ของผู้ตรวจฯ มาตรา 25 (1) ระบุว่าผู้ตรวจฯ สามารถเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ มาให้ถ้อยคำได้ คราวนี้ก็จะเชิญผู้มีอำนาจของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็หวังว่าคงจะได้รับความร่วมมือ
เมื่อถามถึงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แนะให้ประชาชนที่เดินทางไปใช้สนามบิน ไม่ต้องกินอาหารที่สนามบิน แต่ให้ไปกินที่ปลายทางนั้น พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการหลีกเลี่ยง ซึ่งประชาชนที่เดินทางไปใช้บริการ ก็มักจะเป็นช่วงเวลาอาการเช้า เมื่อไปเช็คอินแล้วจะมีเวลาเหลือ 1 ชั่วโมง หากลดราคา เชื่อว่ายอดขายอาหารก็จะพุ่งสูงขึ้น ดูอย่างสนามบินนาริตะประเทศญี่ปุ่น ที่ราคาอาหารในสนามบินเท่ากับราคาข้างนอก คนก็กล้าที่จะไปกิน ไม่ประเป๋าฉีกเหมือนในประเทศไทย ทอท.ควรคำนึงผลประโยชน์ของคนไทย มากกว่าผู้ประกอบการ.-สำนักข่าวไทย