กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำข้อสรุปการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด เสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อกำหนดการควบคุมให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกสับปะรด
นายพีระพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังขอข้อมูลทางการแพทย์ของสารพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอห้ามใช้ เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 นั้น ล่าสุดจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด พบว่ามีความเป็นพิษระดับน้อยถึงปานกลาง แต่ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามฉลาก ซึ่งปัจจุบันมีบางประเทศห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ แต่มีอีกหลายประเทศที่ยังคงใช้ นอกจากนี้จากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้งที่ผ่านมา มีทั้งเห็นด้วยที่จะห้ามใช้และไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดมีประสิทธิภาพดี ราคาถูก หากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย ดังนั้น จึงต้องนำข้อสรุปเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจภายใน 3 เดือนและมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อไป
นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึง พ.ร.บ.พันธุ์พืชและคุ้มครองพันธุ์พืชว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้ว 1,081 ฉบับ และจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ 461 พันธุ์ ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับช่วยส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืช ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงขอเชิญชวนนักปรับปรุงพันธุ์พืชนำพันธุ์พืชที่ปรับปรุงพันธุ์จนสำเร็จมายื่นขอรับความคุ้มครองได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-940-7214
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาสับปะรด ว่า กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานแปรรูปสับปะรด 100 กิโลเมตร มี 21 โรงงาน รวม 12 จังหวัด เช่น อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูก เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูป ส่วนกลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างไกลที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรดจะกำหนดเป็นพื้นที่ปลูก เพื่อการบริโภคสด 15 จังหวัด เช่น เชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง.-สำนักข่าวไทย