กรมคุมประพฤติ 8 ม.ค.-อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปยอดช่วงปีใหม่ มีผู้กระทำผิดถูกคุมประพฤติ 6,677 คดี เมาแล้วขับนำโด่งร้อยละ 90
นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม แถลงสรุปยอดคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ พ.ร.บ.จราจรทางบก ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยในช่วง 7วันอันตราย (28 ธ.ค.2560- 2 ม.ค. 2561) เกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 423 ราย บาดเจ็บ 4,005 ราย ซึ่งมีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 119 แห่ง รวมทั้งสิ้น 6,677 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุราจำนวน 6,030 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.31 ,ขับเสพและอื่นๆ จำนวน 602 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.01 และขับรถโดยประมาท(ตามประมวลกฎหมายอาญา) จำนวน 45 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.67
จังหวัดที่มีสถิติสูงสุด 3 อันดับได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ 448 คดี,กรุงเทพฯ 354 คดี และมหาสารคาม 269 คดี นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกคุมประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุราและขับขี่โดยประมาทที่พ้นโทษ ในช่วงปี 2558-2560 กลับมาทำผิดซ้ำ 99 ราย หรือร้อยละ 1.5
นายประสาร กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขรวมปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยหลังจากนี้จะต้องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาทบทวนมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อหวังว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงว่าตัวเลขผู้กระทำผิดจะลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อมาวิเคราะห์ข้อมูล แล้วมองในมุมกลับ พบว่า ตัวเลขที่เกิดอาจไม่ใช่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการรณรงค์ แต่มองเห็นถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้กระทำผิดโดยเฉพาะเมาแล้วขับ ที่สามารถจับกุมได้มากขึ้น ในส่วนของกรมคุมประพฤติถือเป็นหน่วยงานปลายทาง แต่หน่วยงานต้นทางจะต้องไปหารือ หามาตรการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ นวมถึงจะต้องมีการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ หากผู้กระทำผิดมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอาจไม่ต้องรอลงอาญา หรือคุมประพฤติ ให้จับเข้าห้องขังเลยหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอการหารือร่วมอีกครั้ง
สำหรับเงื่อนไขที่ศาลสั่งคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่ระยะ เวลาคุมประพฤติอยู่ที่ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล โดยกำหนดให้ทำงานบริการสังคม เฉลี่ยอยู่ที่ 21 ชั่วโมง โดยต่ำสุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง และสูงสุด 72 ชั่วโมงและให้กำหนดมารายงานตัว 4 ครั้ง ที่ผ่านมาการทำงานบริการสังคม จะมีเรื่องทำความสะอาดสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะวัด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการต่างๆ ไปเข้าห้องดับจิต หรือไปบริจาคเลือด แต่ปีนี้จะเน้นหนักให้ไปดูแลช่วยเหลือเหยื่อเมาแล้วขับที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เพิ่มจิตสำนึกให้แก่ผู้กระทำผิดมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำจะนำไปวิเคราะห์ข้อมูล ว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากติดสุราซ้ำซาก จะประสานข้อมูลกรมสุขภาพจิตให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป .-สำนักข่าวไทย