กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – อัคราฯ แจงกรณีน้ำเน่าในพื้นที่นาข้าวข้างเหมือง เบื้องต้นไม่พบสารไซยาไนด์ คาดตอซังข้าวแช่น้ำนาน-ทิ้งขยะ-สิ่งปฏิกูล
จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งร้องเรียนเรื่องพบน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวนั้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ขณะนี้บริษัทฯ ได้รับคำสั่งให้ระงับการประกอบการ จึงไม่มีการดำเนินการผลิตใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎกติกากับทางภาครัฐอย่างเคร่งครัดและจริงใจในทันที
อย่างไรก็ตาม อ้างถึงเอกสารข่าวเรื่อง “กพร.ย้ำไม่มีเจตนาปิดบังข้อมูล พร้อมเผยแพร่ผลศึกษา” ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จาก กพร. ที่ระบุชัดเจนว่ายังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ แต่กลับมีกลุ่มบุคคลที่มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทฯ เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียที่พบในที่นา บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ทันทีที่ทราบเรื่องดังกล่าววันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 บริษัทฯ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมา โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพลงพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจจุดที่ได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วนวันเดียวกัน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ตัวแทนจากบริษัทฯ พร้อมด้วยส่วนราชการ ตัวแทนชาวบ้าน และสื่อมวลชน ร่วมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 6 จุด มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บตัวอย่าง 8 ตัวอย่าง, กรมควบคุมมลพิษ 4 ตัวอย่าง และบริษัทฯ เก็บ 7 ตัวอย่าง โดย 7 ตัวอย่างของทางบริษัทฯ เก็บสำรองอีกชุดที่สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 เพื่อส่งตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงพร้อมกับวัดคุณภาพของน้ำที่เก็บไปว่ามีคุณลักษณะทางเคมีและกายภาพที่มีสารปนเปื้อนจากการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ของหมืองแร่ทองคำชาตรีหรือไม่
เบื้องต้นผลวิเคราะห์จากทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทฯ ไม่พบสารไซยาไนด์ หรือสารใด ๆ ที่ใช้ในโรงงาน แต่พบสารอื่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ธาตุเหล็ก แมงกานีส สารหนู ไทโอไซยาเนต และซัลเฟตเป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ค่าทางเคมีจะไม่แสดงว่ามีไซยาไนด์หรือสารเคมีอันตรายใด ๆ ที่ใช้ในโรงงานสกัดแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ แล้วน้ำเน่าเสียในนาข้าวเกิดจากสาเหตุใด คำตอบที่น่าจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากที่สุด คือ เกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าวที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และเมื่อไหลไปตามลำรางสาธารณะซึ่งมีใบยูคาลิปตัสล่วงลงมาสะสมตัวอยู่ด้านล่างในลำรางเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ในระดับที่สูงขึ้น
จากคำบอกเล่าจากประชาชนในพื้นที่ที่เดินทางผ่านเส้นทางข้างเหมืองเป็นประจำพบว่า มีการนำสิ่งปฏิกูลมาลอบทิ้งในบริเวณข้างทางซึ่งเป็นต้นน้ำของป่าบัวและนาข้าวร้องเรียนดังกล่าวเป็นประจำ อีกทั้งยังพบว่ามีการทิ้งขยะหลายพื้นที่ ซึ่งทุกจุดเป็นพื้นที่ต้นน้ำของป่าบัวและนาข้าวร้องเรียนด้วย ซึ่งสิ่งปฏิกูลและขยะดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียได้เช่นกัน สอดคล้องกับผลการตรวจหาปริมาณแบคทีเรียของน้ำในจุดต่าง ๆ พบว่าน้ำในนาข้าวร้องเรียนมีค่าแบคทีเรียสูงกว่าจุดควบคุมมาก ทำให้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นไปได้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่มีผู้ร้องเรียนว่าอาจจะเกิดการรั่วไหลนั้น ไม่ได้มีการใช้งานแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจวิเคราะห์ต้องกระทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐาน โดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยมี กพร.เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อมีผลการพิสูจน์เสร็จสิ้นจะมีการแจ้งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสังคมรับทราบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไป บริษัทฯ ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เปิดดำเนินกิจกรเหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่รอยต่อจังหวัด พิจิตรและเพชรบูรณ์ นั้น บริษัทฯ ประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชนและประเทศชาติเสมอมา ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดด้วยสำนึกของการเป็นสมาชิกที่ดีในชุมชน.-สำนักข่าวไทย