กรุงเทพฯ 28 ธ.ค.-ในนิตยสารที่ประกาศปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้ อย่าง “ขวัญเรือน” ได้ออกฉบับสุดท้ายมาให้แฟนนิตยสารได้ติดตามอ่าน นับเป็นอีกหนึ่งนิตยสารที่เก่าแก่ของไทย ที่กำลังหายไปอีกในยุคสื่อดิจิทัล โดยวงการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งนักเขียนอาชีพหลายคนที่เคยมีรายได้จากนิตยสาร ก็ต้องปรับตัวมากเช่นกัน
“ไม่มีนวนิยายเรื่องไหนไม่มีตอนจบ หน้าที่ของผู้เขียนคือจัดทำบทสุดท้ายให้สวยงามที่สุด ให้ผู้อ่านได้ตราตรึงในใจตลอดไป” นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการนิตยสารขวัญเรือนฉบับสุดท้าย วางแผงเดือนธันวาคม ฉบับที่ 1,102 ปิดตำนาน 49 ปี หลังจากเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่เล่มละ 5 บาท จนถึง 70 บาท
ขวัญเรือนมีคอลัมน์หลากหลาย คอลัมน์งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย มีหน้าแพทเทิร์นที่เป็นเอกลักษณ์ และนวนิยาย ที่เคียงคู่ขวัญเรือน บางยุคเคยมีสูงสุดถึง 16 เรื่อง นักเขียนทุกคนต่างใจหาย เพราะผูกพันกันมายาวนาน ฉบับสุดท้ายนี้ยังมีนวนิยายหลายเรื่องที่ยังไม่อวสาน โดยนักเขียนแจ้งว่าติดตามได้ต่อ เพราะจะนำไปพิมพ์รวมเล่ม
“กนกวลี” นักเขียนชื่อดัง นวนิยายเรื่องสวนสีขาวของเธอ เขียนบทตอนจบได้ทันตีพิมพ์ในขวัญเรือนฉบับสุดท้าย เธอเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยด้วย บอกว่า เมื่อขวัญเรือนปิดตัวลง ก็แทบไม่เหลือนิตยสารที่จะส่งไปให้ตีพิมพ์ เคยเขียนประจำให้สกุลไทย หนังสือก็ปิดตัวไปแล้ว แต่ชีวิตบนเส้นทางวรรณกรรมยังคงเดินต่อไป งานเขียนนวนิยายเป็นจุดเริ่มต้นของนักเขียนอาชีพหลายคน หลายท่านเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ เช่น ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน โสภาค สุวรรณ มาถึงนักเขียนยุคใหม่ปรับตัวพิมพ์ลงบนคอมพิวเตอร์ และส่งผลงานขายผ่านช่องทางใหม่ๆ
ส่วน “พงศกร” นายแพทย์นักเขียนชื่อดังที่มีชื่อเสียงจากนวนิยายแนวลี้ลับ เล่าว่า ผู้อ่านนวนิยายปัจจุบันต้องการอ่านเรื่องราวที่ต่อเนื่อง การรออ่านจากนิตยสารรายปักษ์อาจไม่ตอบโจทย์ ระยะหลังนักเขียนหลายคนจึงหันมาทำสำนักพิมพ์ หรือติดต่อตีพิมพ์นวนิยายเอง
นิตยสารขวัญเรือนฉบับสุดท้ายมีนวนิยาย 9 เรื่อง นิตยสารหลายหัวที่มีจุดขายอยู่ที่นวนิยาย ปิดตัวไปหมดแล้ว เช่น สกุลไทย หญิงไทย เหลือเพียงกุลสตรี ที่มีนวนิยายอยู่ 6 เรื่อง และมีเรื่องราวในเล่มที่สร้างสีสันและทำเนื้อหาให้ตอบโจทย์ผู้อ่าน และคงยอดขายพออยู่ได้ ที่ผ่านมาคนทำหนังสือให้เหตุผลคล้ายกันว่า ผู้อ่านมีพฤติกรรมอ่านนิตยสารเป็นเล่มลดน้อยลง ขณะที่ยอดขายโฆษณาก็เป็นตัวชี้หลักว่าธุรกิจนี้ไปต่อได้ดีหรือไม่ เช่น ขวัญเรือน ในยุคเฟื่องฟู ในจำนวน 400 หน้า มี 200 กว่าหน้าที่เป็นโฆษณา ปัจจุบันนิตยสารที่ยุติการพิมพ์เป็นเล่ม ไปปรากฏตัวผ่านช่องทางใหม่ทางอินเทอร์เน็ต ด้วยความจำเป็นของธุรกิจและกาลเวลา.-สำนักข่าวไทย