สศอ. 28 ธ.ค. – สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 116.83 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน ลุ้นปี 61 จีดีพีอุตสาหกรรมโตร้อยละ 3
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤศจิกายนขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.23 อยู่ที่ระดับ 116.83 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 109.11 สูงสุดในรอบ 8 เดือน จากเดือนเมษายน 2560 อยู่ที่ระดับ 99.96 อัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 64.16
ทั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 11 เดือนของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.52 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวถึงร้อยละ 16 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 11.4 ส่งผลให้อัตราการขยายตัว (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ย 3 ไตรมาสขยายตัวร้อยละ 2.2 ขณะที่ไตรมาส 4 มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันอาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอลงเล็กน้อย แต่มั่นใจว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้ทั้งปีน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.52 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ในกรอบร้อยละ 1.5-2
สำหรับภาพรวมตัวเลข 11 เดือน สะท้อนการฟื้นตัวและเริ่มขยายตัวจากการส่งออกที่ขยายตัวดี การนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปสูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าปี 2561 ภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวและน่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามปัจจัยต่าง ๆ เดือนธันวาคม ประกอบการคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีหน้า โดยเบื้องต้นยังไม่เห็นปัจจัยลบจากต่างประเทศที่เหนือความคาดหมาย จึงน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ขณะที่ค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพมากพอสมควร จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก
นายศิริรุจ กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2561 มีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3 หากเป็นไปตามเป้าหมายจะถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จากปัจจุบันคาดไว้ที่ร้อยละ 2 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2561 คาดขยายตัวใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันที่คาดไว้ร้อยละ 2.5
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้แก่ รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถปิคอัพที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดีขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิตาลี ทำให้การส่งออกรถปิคอัพเพิ่มขึ้น เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากอานิสงส์งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป
ด้านผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.03 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตลาดใหม่ ๆ และความต้องการนำเข้ายางของจีนสูงขึ้น น้ำมันพืชขยายตัวร้อยละ 53.52 จากการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามมาตรการปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเพื่อดูแลราคาปาล์มจากน้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันบี 7 ของกระทรวงพลังงาน และน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 7.09 ตามปริมาณการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทาง.-สำนักข่าวไทย