กรุงเทพฯ 26 ธ.ค.-มาตรการกระตุ้นให้คนมีลูกเพิ่มเป็นเรื่องใหม่ของไทย เนื้อหาสาระและรายละเอียดเบื้องต้นของกฎหมายเพื่อกระตุ้นให้มีบุตรเพิ่มเติม รวมถึงมุมมองจากนักวิชาการที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ ว่าจะช่วยเหลือได้มากแค่ไหน ติดตามจากรายงาน
แม้ปัจจุบันประชากรไทยมี 66-67 ล้านคน แต่อัตราการเกิดย้อนหลังไป 20-30 ปีที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่อง จากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เหลือเพียงกว่า 700,000 คน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทั้งแรงงานที่ลดลง และต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุ หลายประเทศเตรียมมาตรการรองรับ ไทยเองมีความพยายามสร้างแรงจูงใจให้มีบุตรเพิ่ม ซึ่งกรมสรรพากรจะเสนอคณะรัฐมนตรี แก้กฎหมายการค่าลดหย่อนภาษีจูงใจให้คนมีบุตรมากกว่า 1 คน เดิมคนแรกลดหย่อน 30,000 บาท/ปี กฎหมายใหม่กำหนดหากมีลูกนับจากคนที่ 2 ไป ลดหย่อนภาษีได้คนละ 120,000 บาท แบ่งเป็นลดหย่อนภาษี 60,000 บาท และลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์อีก 60,000 บาท/คน/ปี คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปี 2561
ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเป็นทางการ มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 11 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 20 ปีข้างหน้า จะมากถึง 20 ล้านคน ขณะที่วัยแรงงาน 15-59 ปี มี 43 ล้านคน อีก 20 ปี จะลดลงเหลือแค่ 36 ล้านคน สถิติย้อนไปช่วงปี 2500-2526 อัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดเกินล้านคน เรียกว่ารุ่นเกิดล้าน หรือเบบี้บูม เฉลี่ยมีบุตร 4-5 คน แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลดเหลือ 2 คน ปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยสาเหตุหลักที่การเกิดที่น้อยลง เนื่องจากสังคมปัจจุบัน ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น และมีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้ไม่อยากแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วไม่อยากมีลูก หรือมีลูกเพียงคนเดียว ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะถึงขั้นที่ว่า เกิดน้อยกว่าตาย การเพิ่มแรงจูงใจลดหย่อนภาษีอาจช่วยได้น้อย แต่ดีกว่าไม่ประกาศมาตรการใดๆ เลย
ไม่เฉพาะไทยที่เผชิญกับสถานการณ์ประชากรเกิดใหม่ลดน้อยลง แต่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหานี้ต่อเนื่อง และไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับ 3 ของทวีปเอเชีย ที่โครงสร้างผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี ที่อัตราการเกิดลดลง จึงอาจส่งผลต่อความสามารถในการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ ที่สำคัญไปกว่าการส่งเสริมปริมาณการเกิด คือ การส่งเสริมคุณภาพเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาชาติได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย