กรุงเทพฯ 26 ธ.ค.-สำรวจตัวเลขการเกิดของประชากรไทย พบว่ามีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนอาจเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้กรมสรรพากรเดินหน้ากฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มการมีลูกเพิ่มเติม
จากสัดส่วนการเกิดของประชากรน้อยลง ทำให้กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังตระหนักว่า ไทยอาจขาดแกนหลักในการขับเคลื่อนสังคมในวัยทำงานในอนาคต จึงเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (กรณีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) โดยข้อมูลรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร มีจำนวน 25 คน เห็นด้วย 18 คน และไม่เห็นด้วย 7 คน โดยผู้เห็นด้วยส่วนใหญ่มองว่าจะช่วยลดภาระ และอยากได้เงินลดหย่อนเพิ่มเติมเป็น 60,000 บาท/คน ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่า ควรบังคับใช้กฎหมายนี้ย้อนหลังกับผู้มีบุตรเกิน 2 คนทุกกรณี ไม่ควรเริ่มเฉพาะตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงเพิ่มค่าลดหย่อนเป็นขั้นบันได เช่น บุตรคนแรก 30,000 บาท และบุตรคนถัดไป 60,000 บาท และบางคนอยากให้เพิ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตสุขภาพบุตร
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนประชากรไทยในปี 2559 มีจำนวนประมาณ 65.9 ล้านคน จำแนกเป็นชายประมาณ 32.3 ล้านคน และหญิง 33.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 ปีที่แล้วเกือบ 3 ล้านคน แม้จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่จำนวนการเกิดย้อนหลังไปถึงปี 2550 กลับลดลง จากเดิมปี 2550 มีอัตราการเกิดประมาณ 810,000 คน ลดระดับลงมาอยู่ที่ 782,00 คนในปี 2556 และกระทั่งปี 2559 จำนวนการเกิดของประชากรแตะที่ระดับ 704,000 คนเท่านั้น
เปรียบเทียบเป็นสัดส่วนจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน คือ ในจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีทารกเกิดขึ้นมาใหม่ 35.6 คนในห้วงปี 2517-2519 หลังจากนั้นในปี 2538-2539 ทารกเกิดใหม่ลดลงเกือบเท่าตัว คือ 17.9 คนต่อ 1,000 คน กระทั่งปัจจุบันพบว่ามีประชากรเกิดใหม่เพียง 10 คน จากประชากร 1,000 คนเท่านั้น
สัดส่วนการเกิดของประชากรไทยน้อยลง สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเจริญพันธุ์ พบว่าปี 2517 ผู้หญิง 1 คน มีลูกประมาณ 4 คน แต่ปี 2538 อัตราเจริญพันธุ์ลดลงอีกเท่าตัว ผู้หญิง 1 คน มีลูกเพียง 2 คน และกระทั่งปัจจุบันผู้หญิงมีลูกเพียง 1 คน โดยประมาณในต่างประเทศพบว่า จีนได้ดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาแล้ว ชื่อ “นโยบายลูกคนที่สอง” (A Second Child Policy) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาสูงจีน
เมื่อปี 2015 โดยได้ผ่อนปรนนโยบายมีลูกคนเดียวที่ใช้ตั้งแต่ปี 1975 ให้สามารถมีลูกเพิ่มเป็น 2 คน แน่นอนว่าผลดีคือมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังพบว่าญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่มีนโยบายลักษณะนี้ เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเคยมีข่าวอัดฉีดเงิน 1 ล้านเยน ให้ครอบครัวที่มีบุตรคนที่ 4 อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย