ลำปาง 25 ธ.ค.-พาไปย้อนอดีตหนังเก่าพากย์สดโดยทีมพากย์ระดับตำนาน ที่ยังหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ที่จังหวัดลำปาง
เสียงพากย์สดๆ มุขฮาๆ ที่สามารถพากย์ได้หลากบทบาท หลายตัวละครในคนๆเดียว ของคุณลุงมานิตย์ วรฉัตร 1 ในทีมพากย์หนังแผ่นในนาม “พันธมิตร” พากย์สดให้ฟัง ขณะฉายหนังจากฟิมล์ภาพยนต์ขนาด 16 ม.ม. ในโรงภาพยนต์ขนาดเล็กของโรงภาพยนต์ย้อนยุค ซึ่งดัดแปลงบ้านของตัวเอง ที่ตำบลบ้านร้อง ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ งาว-พะเยา ห่างจากตัวอำเภองาว ประมาณ 16 กิโลเมตร ตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง” ศูนย์ภาพยนตร์ย้อนยุค ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ประชาชนได้เข้าชมฟรีทุกวันในเวลา 14.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์ โดยโรงภาพยนต์แห่งนี้จุคนได้ประมาณ 50 คน
คุณลุงมานิตย์ วรฉัตร อายุ 70 ปี ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่พากย์หนังแผ่นในโรงภาพยนตร์ย้อนยุค หรือพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง (ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค) ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณลุงมานิตย์ เคยทำงานกับบริษัทโอสถสภา ในแผนกภาพยนตร์ ตระเวนฉายหนังขายยา หรือหนังกลางแปลงมาแล้วทั่วไทย หลังจากลาออกก็ได้เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ โดยใช้เงินส่วนตัวของตนเองก่อตั้งโรงภาพยนตร์แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2530 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวภาพยนตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดการแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับภาพยนตร์ย้อนยุค ทั้งเครื่องฉายภาพยนตร์และฟิล์มภาพยนตร์ ขนาด 8 มม. 16 มม. และ 35 มม. รวมแล้วกว่า 500 เรื่อง ที่ยังทำงานได้ปกติ ใบปิดหรือโปสเตอร์ภาพยนตร์ โดยนักวาดภาพคุณภาพอย่างคุณเปี๊ยกโปสเตอร์ และท่านอื่นๆ รวมถึงบทพากษ์ภาพยนต์อีกมากมายหลายเรื่องที่คุณลุงมานิตย์เคยพากย์ในสมัยอดีต
คุณลุงมานิตย์เล่าว่าสมัยก่อนทีมพากย์หนังจะมีด้วยกันประมาณ 7-8 คน รายได้คนละ 50 บาท ต่อหนึ่งเรื่อง หากไปกันหลายคนก็ดูที่งบประมาณ ส่วนภาพยนตร์สมัยก่อนที่ใช้นักพากย์ เพราะฟิลม์จะไม่สามารถบันทึกเสียงได้จึงสามารถถ่ายได้เฉพาะภาพ เมื่อนำมาฉายก็ต้องใช้คนพากย์ตามภาพที่นักแสดงแต่ละคนแสดง หรือบางครั้งนักแสดงเสียงไม่ดี ก็ต้องใช้นักพากย์แทน ซึ่งต่างจากสมัยปัจจุบัน ที่สามารถบันทึกได้ทั้งภาพและเสียง ทำให้อาชีพนักพากย์ในปัจจุบันแทบไม่มี ตนเองจึงได้หันมาพากย์ในโรงภาพยนตร์ของตนเองแทน โดยเน้นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับความสนุกสนาน และเพื่อให้งานภาพยนต์ และการพากย์ซึ่งถือเป็นศิลปแขนงหนึ่งไม่ให้สูญหายไป เพราะขณะนี้เชื่อว่าจะเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก ตนจึงต้องรักษาไว้ แม้จะต้องใช้เงินส่วนตัวในการดูแลก็ตาม โดยเฉพาะการดูแลที่หนักมาก คือการดูแลฟิล์มภาพยนต์ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะรักษาให้อยู่ในสภาพเดิม หากขาดหรือชำรุดก็ต้องซ่อมเองทั้งหมด แต่ตนเองก็สามารถทำเองได้เนื่องจากคลุกคลี่อยู่ในวงการนี้มานาน และยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมด้วย .-สำนักข่าวไทย