สำนักข่าวไทย 23 ธ.ค.- นักวิชาการ ชี้ หลังทีวีดิจิตอล ทยอยปิดตัว จะยิ่งแข่งขันกันหนักมากขึ้นภายใน 2-3 ปี ตามกำลังของสายป่านต้นทุน ต้องผลิตรายการตามความชื่นชอบคนดูเพื่อหวังรายได้ อาจทำให้คุณภาพทีวีที่ต้องคำนึงสาระหาย ห่วงกสทช.ยังไม่เข้าใจสื่อ ไม่ทันเทคโนโลยี ทำจัดสรรคลื่นวิทยุซ้ำรอย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว ถึงปัญหาทีวีดิจิตอล ว่า นับเป็นปัญหาที่ยังต้องจับตามอง เพราะการแข่งขันต่อไปในอนาคต จะมีแนวโน้มต่อสู่กันไปอีก 2-3 ปี ตามกำลังของสายป่านนายทุน ที่เปลี่ยนหน้าในบางสื่อแล้ว ส่วนปัญหาที่สื่อโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล ทยอยปิดตัว เป็นเพราะมาจาก การลงทุนการประมูลที่ช่อง ที่สูงในช่วงแรก ,การระดมเงินซื้อผู้ประกาศ- ซื้อดารา และหวังว่ากำไรจะเกิดขึ้นได้ภายใน 5-7 ปี ซึ่งความเป็นจริงในขณะนี้เป็นไปได้ยาก ประกอบการ พฤติกรรมของผู้บริโภคในสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนไป จากการชมสื่อแบบแมสมิเดีย หรือ แบบวงกว้าง เปลี่ยนไปการชมสื่อแบบ ตามเฉพาะกลุ่ม ความชอบส่วนตัว มุ่งเข้าช่องทางนั้นทันที ส่วนที่เหลือใช้การชมแบบย้อนหลัง ประกอบกับสื่อออนไลน์ คนเปลี่ยนมารับชมในโทรศัพท์มือถือ เสพสื่อแบบ รวดเร็ว ทำให้คนทำสื่อก็ต้องปรับตัว มากขึ้น นอกจากเลือก การนำเสนอ ผลิตรายการ ที่ตรงเป้าหมายเฉพาะกลุ่มแล้ว ยังต้องมีการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งก็เป็นที่มาของการลดพนักงาน เพื่อความอยู่รอด คนที่ทำงานมานาน อายุงานเยอะ ไม่ปรับตัว ก็อาจเป็นเป้าหมายขององค์กร ที่ต้องถูกปรับออก
ดร.มานะ กล่าวว่า การแข่งขันบนหน้าจอโทรทัศน์จากนี้ จะเป็นเรื่องของใครมีต้นทุนมากกว่ากัน และที่น่าเป็นห่วงคือการคำนึงถึงรายได้เม็ดเงิน อาจทำให้คุณภาพของสื่อหน้าจอเปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้กสทช. เองก็ยังควบคุม วางหลักเกณฑ์ได้ไม่ดีพอ ทิศทางการทำงานของกสทช. ยังคงไม่เข้าใจการทำงานสื่อ และไม่เท่าทันเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลง และปรับตัวตามไม่ทัน ทำให้ห่วงต่อไปถึงอนาคตถึงการจัดสรรคลื่นวิทยุ ว่าได้รับผลกระทบไม่แพ้ทีวีดิจิตอล ทางออกของปัญหานอกจากปรับตัวทำงาน ธุรกิจสื่อต้องปรับเพิ่มการนำระบบออนไลน์มาใช้ร่วม แต่ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดสด หรือ ลิงค์กับโทรทัศน์ รูปแบบการนำเสนอต้องแตกต่าง ส่วนที่ทาง กสทช. ได้มีการรวบรวมความเห็น ทางแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล เสนอ คสช.ไปแล้ว คาดว่า น่าจะเป็นเรื่องของการลด หรือ ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสัมปทาน หรือ ดอกเบี้ย มากกว่า การคืนช่อง เพราะหากเป็นเช่นนั้น รัฐจะเสียรายได้ ส่วนการปรับตัวของวงการศึกษาในฐานะ ผู้ผลิตบุคคลากรสื่อสารมวลชน ยอมรับทางภาคการศึกษา ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร และมุ่งสอนที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเน้นการสอนแบบดิจิตอล