20 ธ.ค.-คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรื้อคดีครูจอมทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม สรุปการตรวจสอบข้อเท็จพบว่าขบวนการรื้อฟื้นคดีถูกจัดฉาก และเกิดก่อนกระทรวงเข้าช่วยเหลือ ขณะที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมสั่งจัดระเบียบช่วยเหลือใหม่ทั้งหมด
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงช่วยเหลือรื้อคดีครูจอมทรัพย์ของกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยผลสรุปการสอบสวน ซึ่งใช้เวลา 30 วัน ตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการและบทบาทของเจ้าหน้าที่กระทรวง ซึ่งผลสอบระบุชัดเจ้าหน้าที่ทำตามกรอบอำนาจในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
โดยเปิดไทม์ไลน์แสดงขั้นตอนกระบวนการรับความช่วยเหลือของนางจอมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2557-2560 ซึ่งเข้ายื่นคำร้องขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสามีและญาติได้เข้ายื่นคำร้องขอให้ช่วยรื้อฟื้นคดีกับแทบทุกหน่วยงาน ทั้งยื่นโดยตรงกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนม และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แทงเรื่องกลับมาให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรับไว้ดำเนินการ และเข้าสู่ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้ตรวจสอบพบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ตามที่ผู้ร้องนำเสนอ
โดยมีการนำตัวนายสับ วาปี ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.นาโดน และรับสารภาพว่าเป็นผู้ขับรถชนคนตายจริง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนจะมายื่นคำร้องถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 สั่งรับคำร้องรื้อฟื้นคดี นางจอมทรัพย์ก็เดินทางมาขอบคุณทีมงาน ซึ่งเป็นทีมงานศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ชุดที่ 2 เข้ามารับหน้าที่แทนชุดเดิมที่เกษียณอายุราชการ ในชั้นนี้มีการนำเครื่องจับเท็จมาใช้ พบว่านายสับและนายสุริยาให้การเท็จ
ส่วนข้อข้องใจของสังคมในกรณีที่เหตุใดพบว่านายสับและนายสุริยาให้การเท็จ แต่ยังให้ความช่วยเหลือต่อ และไม่นำข้อเท็จจริงให้ศาลพิจารณา การตรวจสอบประเด็นนี้ได้ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ รวมทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน และตรรกะในการทำงานของทีมงานทั้ง 2 ชุด รายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ พบว่าพยานบุคคลในการรือฟื้นคดีใช้ไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยการตรวจสอบสภาพรถแทน
ส่วนอนาคตการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและการรื้อฟื้นคดี ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้จัดระเบียบใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ปฏิบัติเพียงกว้างๆ และไม่มีระเบียบครอบคลุมถึงวิธีการและขั้นตอนการช่วยเหลือที่ชัดเจน ที่สำคัญการรื้อฟื้นคดีอาญาไม่ใช่เรื่องทั่วไป แต่เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษามาแล้วถึง 3 ศาล กระบวนการจึงต้องรอบคอบ และไม่กระทบถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมส่วนอื่นๆ ซึ่งระเบียบในการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อช่วยเหลือในคดีอาญาที่จะปิดช่องว่างบางอย่างคาดว่าจะประกาศใช้เร็วๆ นี้.-สำนักข่าวไทย