สระแก้ว 20 ธ.ค. – กลุ่มเกษตรกรใน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว รวมตัวกันทำสวนชมพู่ปลอดภัยจากสารพิษ ส่งออกขายต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ก.เกษตรฯ ในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุน
ที่บ้านไกลนคร อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เกษตรกร 25 ราย รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกชมพู่ปลอดสารพิษ ครอบครัวของพวกเขาทำสวนชมพู่มากว่า 20 ปีแล้ว ต่อมาได้ปรับปรุงคุณภาพ จนได้รับ GAP จากกรมวิชาการเกษตร ว่าเป็นชมพู่ปลอดภัยจากสารพิษ เมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้สามารถส่งขายไปยังจีนและมาเลเซียได้
ประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกของสมาชิกทั้งหมดมีรวม 250 ไร่ ได้ผลผลิตปีละ 2,000-3,000 ตัน ส่งขายไปจีน ได้ราคากิโลกรัมละ 80 บาท มาเลเซียรับซื้อผลขนาดเล็ก 40 บาท ผลใหญ่ 70 บาท ปีหนึ่งๆ มีรายได้รวมกันประมาณ 10 ล้านบาท ชาวสวนมีระบบจัดการสวนที่ดี ทันสมัย ตัดแต่งกิ่งชมพู่ให้ทรงพุ่มเตี้ย เพื่อประโยชน์หลายอย่าง
ฤดูให้ผลผลิต คือ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ขณะนี้บำรุงให้ออกนอกฤดู ผลผลิตที่มากขึ้นทำให้เริ่มป้อนตลาดในประเทศได้แล้ว โดยในฤดูขายกิโลกรัมละ 25-35 บาท นอกฤดู 40 บาท
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กล่าวว่า ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาปฏิบัติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
ขณะนี้กำลังเสนอขอจดทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในชื่อ “ชมพู่เพชรคลองหาด” หรือ “Rose Apple Pedklonghad” เนื่องจากมีรสชาติหวานกลมกล่อม กรอบ เนื้อแน่น ผิวสีแดงสดมันวาวเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากสภาพของดินและภูมิอากาศใน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว. – สำนักข่าวไทย