กรมราชทัณฑ์14 ธ.ค.-กรมราชทัณฑ์ จัดพิธีโอนย้ายนักโทษต่างชาติกลับประเทศ ‘ฝรั่งเศส-เดนมาร์ก’รวม 3 รายตามความร่วมมือที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งปัจจุบันมี 37 ประเทศ โอนตัวกลับไปยังประเทศสัญชาติแล้วทั้งสิ้น 1,077 ราย
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า วันนี้ กรมราชทัณฑ์ได้จัดพิธีโอนตัวนักโทษเด็ดขาดสัญชาติฝรั่งเศส 2 ราย และเดนมาร์ก จำนวน 1 รายเพื่อกลับไปรับโทษต่อยังประเทศตามสัญชาติของนักโทษเด็ดขาด โดยนักโทษทั้ง 3 ราย รับโทษอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม
สำหรับการโอนตัวนักโทษเด็ดขาด เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 และสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ โดยประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่มีการทำสนธิสัญญาการโอนนักโทษ จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญาการโอนนักโทษกับประเทศต่างๆแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 37 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ไนจีเรีย กัมพูชา และญี่ปุ่น เป็นต้น
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศกลับไปรับโทษต่อยังประเทศสัญชาติ ทั้งสิ้น 1,077 ราย โดยการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้นักโทษกลับ ไปรับโทษที่เหลืออยู่ในประเทศของตน ได้ใกล้ชิดครอบครัว ญาติพี่น้อง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คุ้นเคย เพื่อประโยชน์ต่อการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้เป็นคนดีกลับสู่สังคมต่อไป อีกทั้ง ยังช่วยลดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำของไทย
สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นของการโอนตัวนักโทษนั้น จะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนนักโทษระหว่างรัฐต่อรัฐ และต้องได้รับความยินยอมจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐผู้โอน รัฐผู้รับโอน และนักโทษที่จะได้รับการโอนตัว โดยนักโทษที่จะโอนตัวต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุด ได้รับโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 1ใน 3 ของโทษและเหลือโทษจำไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมถึงต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ.-สำนักข่าวไทย