กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – ทีเส็บชู “สมาร์ท วิลเลจ” กระตุ้นกลุ่มองค์กรจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศ ปั้น 4 ชุมชนต้นแบบ ดึงเอกชนและกลุ่มสตาร์ทอัพสร้างกระแสผ่านดิจิทัล
นางสริตา จินตกานนท์ ผู้ชำนาญการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บจัดให้มีโครงการสมาร์ท วิลเลจ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทองค์กรเดินทางไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ของบริษัทและกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ชุมชนที่มีศักยภาพนอกเหนือจากไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และขอนแก่น ซึ่งจังหวัดอื่น ๆ ของไทยยังมีศักยภาพ มีกิจกรรมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรม วิถีชีวิต รวมทั้งสินค้าของชุมชนที่สามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่า เพื่อเป็นซัพพลายที่ดีแก่การจัดกิจกรรมไมซ์ ทั้งในรูปแบบเชิงธุรกิจและสัมมนา ซึ่งจะเป็นการกระจายโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน จากการประสานความร่วมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน ขณะเดียวกันยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ ทีเส็บได้คัดเลือก 4 ชุมชนต้นแบบสำหรับโครงการสมาร์ท วิลเลจที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายไมซ์ในประเทศ มีศักยภาพรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ สามารถรองรับลูกค้าองค์กรขนาด 20 คนขึ้นไปได้ และต้องเป็นชุมชนที่มีศักยภาพพัฒนาทางด้านสมาร์ท วิลเลจ 4 มิติ ได้แก่ Smart Culture มีมิติความล้ำทางวัฒนธรรมหรือรากฐานของชุมชนจากการที่ได้ผสมผสานกับนวัตกรรมจนกลายเป็นเสน่ห์ใหม่ของท้องถิ่น Smart Community สามารถนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและก่อเกิดความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน Smart Experience เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ หรือเป็นวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์แบบเดิม และ Smart MICE มุ่งเน้นจัดกิจกรรมที่แสดงศักยภาพและความพร้อมของชุมชน มีการดีไซน์ต่อยอดสร้างสรรค์จากประสบการณ์แบบเดิม รวมถึงนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ ซึ่งจากเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว ทำให้ทีเส็บเล็งเห็น 4 ชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชุมชนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ชุมชนปากแพรก จ.กาญจนบุรี ชุมชนดอยแม่สลองนอก จ.เชียงราย และชุมชนวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังเชิญพันธมิตรเอกชนเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับชุมชนไปในทิศทางที่ SMART ขึ้น จึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือโดยได้รับการสนับสนุนจาก 11 กลุ่มสตาร์ทอัพให้ชุมชนดังกล่าวเป็นจุดหมายไมซ์ใหม่ที่น่าสนใจแก่ตลาดกลุ่มบริษัทองค์กรเอกชนในประเทศไทย ทั้งนี้ ดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด “Co-Creation” อาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สร้างสรรค์ผลผลิตทางความคิดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดธุรกิจไมซ์
นางสริตา กล่าวว่า นอกจากการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดให้ธุรกิจไมซ์แล้ว ผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนต้นแบบยังได้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนที่สามารถสร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าไมซ์ ขณะเดียวกันกลุ่มสตาร์ทอัพก็ได้เรียนรู้วิธีโปรโมทชุมชน เพื่อดึงจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ออกมาเผยแพร่ โดยเฉพาะการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Facebook, Youtube ส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินธุรกิจบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนดังกล่าวเป็นจุดหมายไมซ์ใหม่ที่น่าสนใจเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน และพร้อมบูรณาการการใช้เทคโนโลยีทั้งเพื่องานบริการอย่างการจองที่พักในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น หรือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมสินค้า บริการ สามารถสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมด้านการขายและตลาดให้แต่ละพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ระบบห่วงโซ่ธุรกิจของประเทศ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลของโครงการสมาร์ทวิลเลจ ได้ที่เว็บไซท์โครงการฯ https://smartvillagecampaign.com/.-สำนักข่าวไทย