กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – กสอ.ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU)บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์เกาหลีใต้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจ คาดผู้ประกอบการไทยจะผลิตได้ปี 2561 ช่วยลดการนำเข้าได้ถึงปีละ 9,000 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU)กับบริษัท เมดิอาน่า จำกัด จากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อผลักดันให้มีการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) ในประเทศไทย ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ขณะนี้่มีราคาต่อเครื่องสูงถึง 90,000 บาท
นายกอบชัย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ใน 2 รูปแบบทั้งรูปแบบที่บริษัท เมดิอาน่า จำกัด ลงทุนผลิตเครื่องกระตุกหัวใจในประเทศไทยเองหรือรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการไทยด้วยการขายเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เพื่อทำการผลิตต่อไป จากนั้นจะเร่งเชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ในการผลิตใช้เองในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า และคาดว่าภายใน 5 ปีจะผลิตได้ 100,000 เครื่อง ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติในประเทศไทย กสอ.ดึงทีมนักวิจัยของวิศวกรรม ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาด้วย การผลิตใช้เองในประเทศคาดว่า จะผลิตได้ภายในปี 2561 ทั้งนี้ หากได้การตอบรับจากผู้ประกอบการไทยในทิศทางที่ดี ตามเป้าหมายคาดว่าอีกภายใน 5 ปี น่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 เครื่อง ซึ่งช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ถึง 9,000 ล้านบาท
สำหรับเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุและคร่าชีวิตคนไทยมากถึง 54,000 คนต่อปี และด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อุปกรณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้งในทุกอาคารและสถานที่
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีฐานในด้านการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของภูมิอาเซียนแต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนักและเป็นเครื่องมือประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หลอดฉีดยา แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยกลับนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องวินิจฉัยโรค จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งของยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเองในประเทศทั้งหมด -สำนักข่าวไทย