กรุงเทพฯ 10 ธ.ค.-สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดเวทีสร้างความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติสำหรับการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ชั่วโมงละ2 คน แนะ ประชาชนควรพกยาอมใต้ลิ้น ร่วมกับ แอสไพริน ติดตัวตลอดเวลา ช่วยรอดชีวิตได้
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินและโครงการป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน จัดเสวนา ช่วยชีวิตก่อนหัวใจวายเฉียบพลัน ได้อย่างไร โดยมี นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดี สหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมเสวนาสร้างความเข้าใจการช่วยชีวิตในภาวะฉุกเฉิน
นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปรากฎการณ์คนในวงการบันเทิง นักการเมือง บุคคลมีชื่อเสียง ประชาชนทั่วไป เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ควรนำบทเรียนความสูญเสีย มาสู่แนวทางปฎิบัติและป้องกันอย่างถูกวิธี จากสถิติ ทุกชั่วโมงคนไทยต้องเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลัน2คน ซึ่งภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเกือบทั้งหมดเกิดจากหัวใจหัวใจเต้นผิดปกติร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจขาดเลือดรุนแรง จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นในอกเหมือนถูกเหยียบ หรือรัดแน่น ที่อาจร้าวที่คอ คาง ฟัน ยอดอก หรือร้าวไปที่ไหล่และแขนโดยเฉพาะด้านซ้าย ขณะกำลังออกกำลังกายหรือเครียดมากๆ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจาหภาวะหัวใจขาดเลือดที่จะนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เมื่อมีอาการอย่างนี้ควรนั่งพักทันที หากสักครึ่งนาทีแล้วไม่ดีขึ้น ให้อมยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือยาไอเอสดีเอ็น (ISDN) ให้อมยาไว้ใต้ลิ้น1 เม็ดทันที หาก2-3 นาทีไม่ดีขึ้น เรียกคนใกล้เคียงให้การช่วยเหลือส่งโรงพยาบาล หรือโทรเรียกรถฉุกเฉิน 1669 หากอาการไม่ดีขึ้นให้อมยาใต้ลิ้นเพิ่มอีก1เม็ด
ทั้งนี้ การเสวนาครั้งนี้เพื่ออยากเน้นย้ำการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ลดอัตราการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ให้ประชาชนรู้ทันเหตุที่สามารถป้องกันได้ อย่างโรคหัวใจวายเฉียบพลัน โดยการอมยาใต้ลิ้น เป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจที่ขาดเลือดได้รับเลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น หากใช้ยาอมใต้ลิ้นขณะยังมีสติ ทำให้โอกาสรอดชีวิตร้อยเปอร์เซนต์ แต่หากหมดสติจากหัวใจวายเฉียลพลัน แม้นำส่งโรงพยาบาล โอกาสรอดเพียงร้อยละ10 ดังนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยหรือคนทั่วไป พกยาอมใต้ลิ้นไว้ในกระเป๋าเสมอ สามารถที่จะช่วยชีวิตตัวเองและช่วยผู้อื่นได้ด้วย
สำหรับบุคคลที่ไม่เคยไปตรวจหรือไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่มีประวัติของโรคเกี่ยวกับหัวใจมาก่อนแต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงเช่นมีกรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง วัยที่เลย40ในผู้ชาย หรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หาดพกยาไว้จะช่วยให้รอดชีวิตได้ หากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
ขณะที่อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เข้าถึงผู้ป่วยได้ภายใน4-5 นาที หลังแจ้งเหตุ แต่อยากวิงวอนให้กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มหน่วยปฎิบัติการและชุดปฎิบัติการให้มีจำนวนมากขึ้น เพิ่มการรับรู้ให้ประชาชนเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันโดยตรงเพื่อจะได้ตรงไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต จากสถิติการนำส่งผิดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมีมาก แม้จะเร่งประชาสัมพันธ์การปั๊มหัวใจ มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ แต่หากส่งผิดที่โอกาสรอดชีวิตน้อย
ด้านนพ.ธวัชชัย คณบดี สหเวชศาสตร์ กล่าวว่า อีกตัวยาที่ช่วยให้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน คือ BABYแอสไพริน หากเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น ให้เคี้ยวยา BABYแอสไพริน 1เม็ด แล้วดื่มน้ำตามมากๆ แล้วพยายามให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกแรงๆหรือไอแรงๆเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น ยาทั้ง2 ตัวยา ทั้งยาอมใต้ลิ้นไอเอสดีเอ็นและ BABY แอสไพริน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ อยากให้ประชาชนรับความรู้การช่วยชีวิตเบื้องต้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน .-สำนักข่าวไทย