กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – พฤติกรรมขยับร่างกายน้อย ใช้ชีวิตเชื่องช้าแบบสโลว์ อาจทำให้เข้าข่ายมีภาวะพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งนอนติดหน้าจอ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี) และอ้วนลงพุง
เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อ ย่อให้สังคมอยู่ที่ปลายนิ้วสัมผัส ทำให้ผู้คนจับจดอยู่กับหน้าจอ ขยับร่างกายน้อยลงทุกวัน กลายเป็นภาวะพฤติกรรมเนือยนิ่ง พบมากในกลุ่มคนสังคมเมืองและเกือบทุกวัย ซึ่งเป็นเช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก
เกณฑ์ชี้วัดว่าเข้าข่ายพฤติกรรมเนือยนิ่ง สังเกตได้จากใน 24 ชั่วโมง ใช้ชีวิตไปกับการนอนมากกว่า 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลือส่วนใหญ่หมดไปกับการนั่งทำงานหน้าจอมากกว่า 13 ชั่วโมง ขยับร่างกาย ออกกำลังกายน้อยกว่า 150 นาที/สัปดาห์
ผลเสียของพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ขยับร่างกาย ทำให้เสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ง่าย ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคออฟฟิศซินโดรม และอ้วนลงพุง กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง มักเป็นพนักงานออฟฟิศ คนขับรถโดยสาร ทางแก้ หากนั่งนานเกิน 2-3 ชั่วโมง ควรลุกขยับร่างกายสัก 1 ครั้ง ฝึกเดินขึ้นลงบันไดให้เป็นนิสัย ใกล้ไกลใช้การเดิน ส่วนเด็กวัยเรียนไม่ควรหมกตัวอยู่กับหนังสือหรือหน้าจอ แต่ต้องมีกิจกรรมทางกายร่วม หลังมีข้อมูลพบเด็กไทยเข้าข่ายอ้วน ร้อยละ 13 ดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ส่วนผู้สูงอายุควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและขยับร่างกายเช่นกัน
พฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นภัยเงียบที่แฝงมากับความสบาย แต่ลำบากในบั้นปลาย การขยับร่างกายควรทำให้เป็นนิสัย ไม่ใช่แค่ตามกระแส มีวินัย โรคภัยก็ไม่เบียดเบียน. – สำนักข่าวไทย