กระทรวงเกษตรฯ 8 ธ.ค. – รัฐบาลเตรียมมอบของขวัญปีใหม่เกษตรกร ซื้อยางพารานำตลาดให้คุ้มทุน สั่งพลังงาน-ปตท.ซื้อปาล์มผลิตไบโอดีเซล จ่ายเบี้ยเลี้ยงฝึกอาชีพเกษตรก่อนฤดูเพาะปลูก สั่งกรมการข้าวศึกษาพันธ์ุข้าวนิ่มป้อนตลาดจีน มุ่งดูแลรายได้น้อยลงทะเบียนสวัสดิการ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และผู้บริหาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจัดทีมวอร์รูมระดมผู้เชี่ยวชาญบูรณาการแผนแก้ปัญหาภาคเกษตร ครอบคลุมปัญหาของเกษตรกรทุกด้าน ว่า เพื่อให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือภาคเกษตรสอดคล้องกันทั้งด้านการผลิต การตลาด การท่องเที่ยวชุมชน สินเชื่อเติมทุนให้เพียงพอ แผนระยะสั้นเร่งด่วน คือ ปัญหาราคายางพารามอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันราคาสูงกว่าต้นทุน ส่วนระยะยาว ต้องหาวิธีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยาง ขณะที่ปาล์มน้ำมันมีปัญหาสตอกสูงถึง 500,000 ตัน สูงสุดในรอบหลายปี ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เห็นชอบให้ผู้ส่งออกรับซื้อปาล์ม 100,000 ตัน กระทรวงพลังงาน 100,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซลและให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมรับซื้อเพิ่ม เพื่อระบายสตอกให้น้อยลงจากปัจจุบัน และจากนี้ไปต้องไม่เกิดภาวะค้างสตอกจำนวนมากเหมือนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งเสริมปศุสัตว์ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ภัยแล้ง หันมาเลี้ยงโค เลี้ยงปลา หรือสัตว์เศรษฐกิจอื่น เช่น การจัดหาโค รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เพื่อขอรับโคไปเลี้ยงผ่านการสนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญรัฐบาลมุ่งบริหารจัดการข้อมูลการเกษตร (BIG DATA) เชื่อมโยงข้อมูลเกษตรทุกด้านของทุกหน่วยงาน เปิดให้เกษตรรับทราบข้อมูลความต้องการของตลาด ราคาสินค้า การแชร์ข้อมูลระหว่างกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง จึงต้องการวางโครงสร้างและวางรากฐานบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลใหม่ ยกระดับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด คาดว่าหลังจากนี้ไป 3 เดือนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปีนี้นายกรัฐมนตรีกำหนดให้ความสำคัญแก้ปัญหาด้านเกษตรรายย่อยให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล จึงต้องการนำหัวขบวนทั้งเอสเอ็มอีเกษตรและสหกรณ์ที่เข้มแข็งมาเป็นแบบอย่าง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตหรือการจ้างผลิต เพื่อจัดหาตลาดรองรับ ทั้งผลไม้ พืชสวน การค้าผ่านออนไลน์ต้องเริ่มจากชุมชน มาตรการจะต้องสรุปออกมาเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคายางพารา หลังจากการประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ ได้เริ่มทยอยรับซื้อยางจากตลาด ทำให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้น 1.30 บาท จาก 42-43 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 47-48 บาทต่อกิโลกรัม ที่ประชุมจึงสั่งใช้มาตรการเร่งด่วนผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การระดมหลายหน่วยงานรับซื้อยางจากสตอกออกไปสู่ตลาดเพิ่ม หวังผลักดันราคายางสูงกว่าต้นทุนของชาวสวนยางที่มีต้นทุน 51.28 บาทต่อกิโลกรัม 2.การให้ส่วนหน่วยราชการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รับซื้อยางเพิ่ม จากเดิมมีเป้าหมาย 33,000 ตัน เพิ่มขึ้น 50,000-80,000 ตัน จัดทำแผนให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์หน้า เพื่อใช้ซ่อมแซมถนนหลายโครงการในชุมชนหลายพื้นที่ การสร้างสนามกีฬา หรือใช้ในโครงการลงทุนภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน
3.สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมงบประมาณรับซื้อยางพาราเพิ่ม จากเงินทุนหมุนเวียนปัจจุบัน 1,200 ล้านบาท การขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งออกรับซื้อยาง และให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนให้กับเอกชน เพื่อระบายยางพาราออกสู่ตลาดผ่านหลายหน่วยงานได้ถึง 100,000 ตัน คาดว่าราคายางพาราจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยจะติดตามสถานการณ์ราคาทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมจัดฝึกอบรมอาชีพให้เกษตรกรมีความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิต การตลาด การค้าผ่านออนไลน์ หลังเก็บเกี่ยวพืชผลใช้เวลาก่อนการผลิตปีใหม่จะมาถึง โดยจ่ายเบี้ยเลี้ยงอบรมให้เกษตรกร
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรต้องดูแลทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผ่านผู้เชี่ยวชาญของทุกหน่วยงาน ในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาราคาข้าว คาดว่าปีนี้จะมีข้าวออกสู่ตลาด 23 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 12 ล้านตันข้าวสาร แบ่งเป็นใช้สำหรับบริโภคในประเทศ 8 ล้านตัน รองรับการส่งออก 4 ล้านตัน ดังนั้น จึงต้องดูแลชาวนาที่ต้องปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่เขตชลประทาน 12 ล้านไร่ เพื่อคุมให้เหลือ 10 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดส่งออกที่ต้องการเพียง 10 ล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ปอเทือง หรือพืชชนิดอื่น
รวมทั้งสั่งการให้กรมการข้าวศึกษาพันธุ์ข้าวนิ่ม เนื่องจากขณะนี้จีนต้องการรับซื้อข้าวพันธุ์ดังกล่าวจำนวนมากถึง 7 ล้านตัน เพราะขณะนี้จีนหันไปรับซื้อจากเวียดนามจำนวนมาก คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกไปสู่เกษตรกรกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับราคาข้าวหอมมะลิ 13,000-14,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมฯ 9,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500-8,000 บาทต่อตัน นับว่าเป็นระดับราคาที่ชาวนาพอใจ ส่วนข้าวเหนียวราคาสูงขึ้น ชาวนาจึงหันไปปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายหน่วยงานจะร่วมแก้ปัญหาหนี้สิน การประกอบอาชีพให้กับผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นเกษตรกร 3.96 ล้านคน โดยส่งผู้เชี่ยวชาญออกไปพูดคุยประเมินปัญหารายบุคคลแบบคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพความเป็นอยู่ดีขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อสรุปมาตรการทั้งหมดเสนอเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน.-สำนักข่าวไทย