จรัญชี้แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. – ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นควรทำตั้งแต่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันการเมืองครอบงำระบบยุติธรรม


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาหัวข้อ “ตามหาคน (โกง) หาย” ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกตำหนิว่าล่าช้า ซึ่งก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงและยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินคดีรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า การดำเนินคดีอาจไม่เข้มข้นเท่าที่ควร เพราะผู้ต้องหาบางรายสามารถหลบหนีไปได้ จึงต้องจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

จากนั้น เข้าสู่การเสวนา หัวข้อ “ตามหาคน (โกง) หาย” โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนขอตั้งโจทย์สำหรับระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย  โจทย์ข้อแรก ประเทศไทยยังมีช่องโหว่ปล่อยคนชั่วลอยนวลเยอะ จนภาควิชาการตั้งฉายาให้ระบบงานยุติธรรมของไทยว่า เป็นระบบงานยุติธรรมใยแมงมุม ที่ดักจับได้แค่แมลงตัวเล็ก แต่จับแมลงตัวใหญ่ไม่ได้ เหมือนการปล่อยคนชั่วลอยนวล  โจทย์ข้อที่สอง มีการจับตัวผู้บริสุทธิ์มาเอาผิดและลงโทษทางอาญา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลตัวเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถหาพยาน หลักฐานมาพิสูจน์ได้ ส่วนโจทย์ข้อที่สาม คือ ปัญหาอาชญากรในเครื่องแบบ หรือ บุคลากรในระบบงานยุติธรรมที่เกเร แฝงตัว อาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก่ออาชญากรรมโดยไม่ปรากฎให้สังคมรับรู้  ซึ่งปราบปราบบุคคลเหล่านี้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้ พบว่า โจทย์หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เกิดมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม 


“เราต้องแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของคนส่วนใหญ่ในสังคม คนที่ทำผิดต่อบ้านเมือง ควรได้รับการลงโทษลงทัณฑ์ตามความผิดที่ได้กระทำ เพื่อให้สังคมได้รับบทเรียนว่า เราอย่าไปทำอย่างนั้น สังคมจะปลอดภัยขึ้น ขณะที่ผู้กระทำผิดก็จะได้รับการกล่าวเตือนว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ ถือเป็นการรับโทษในทางมนุษย์ แต่หากบุคคลเหล่านั้น ยังกระทำผิดอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการตักเตือน ต่อไปก็ต้องรับโทษจากพระผู้เป็นเจ้า หรือธรรมชาติจะเป็นผู้ลงโทษตัวเขาเสียเอง” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการพัฒนากฎหมาย กลไก และเครื่องมือจำนวนมาก จนกระทั่งมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้รับการเสริมเขี้ยวเล็บพร้อมปิดช่องว่างทางกฎหมายมามากพอสมควร โดยในเรื่องของการหลบหนี มีการแก้กฎหมายว่า หากจำเลยหลบหนี อายุความต้องหยุดลง และสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ดังนั้น หากพิพากษาลงโทษ โทษก็จะติดตัวตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่กระทำผิดแล้วหลบหนีการดำเนินคดี 

“การแก้กฎหมายเช่นนี้ไม่ใช่แนวทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะหากกลับมาต่อสู้คดี อายุความก็จะเดินหน้าต่อ และหากวันหนึ่งภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง ไม่ใช้วิธีใต้โต๊ะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกเรเหล่านั้น ก็จะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องเมตตาสังคม มากกว่าเมตตาลูกน้องตัวเอง หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยุคใดใช้กลไกปกปิดการทำผิด ทุกอย่างจะเละเทะ และไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพราะเจ้าหน้าที่กลับกระทำผิดเสียเอง ดังนั้น ยุคใดที่มีนายกรัฐมนตรีใจซื่อมือสะอาด เอาจริงเอาจังกับผู้ร่วมงาน ยุคนั้นประเทศไทยจะดีขึ้นเยอะ เชื่อว่า จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้” นายจรัญ กล่าว


นายจรัญ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือดำเนินการสำหรับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ในคดีอาญาระดับรองลงมา เมื่อปล่อยคดีให้ล่าช้า พยานหลักฐานก็มักจะหายไป ดังนั้น จึงต้องการให้ขยายผลกฎหมายในคดีทุจริตให้มาถึงคดีอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการให้กระบวนการยุติธรรมช่วยเหลือด้านพยานหลักฐานในกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัยก่อน ยกเลิกระบบการให้คู่กรณีต่อสู้กันเองในคดีอาญาร้ายแรง ต้องมีระบบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทั้งสองฝั่งอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดการจับตัวคนบริสุทธิ์มาลงโทษ อีกทั้งการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมีความเท่าเทียม แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางฐานะให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องโทษปรับ เสนอให้ยกเลิกการจับขังคุกแทนการจ่ายค่าปรับ แต่เปลี่ยนเป็นการทำงานทดแทนจะดีกว่า เพราะคนยากจนมักไม่มีเงินนำมาจ่ายค่าปรับ และควรมีกรอบเวลาการพิจารณาคดีอาญาในกระบวนการของศาล เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี 

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้เริ่มมีพัฒนาการที่สามารถจับผู้ต้องหาที่มีฐานะร่ำรวยเข้าเรือนจำได้ แต่ก็อาจจะมีสิทธิพิเศษในบางเรือนจำที่มีหลายแดน แต่ละแดนจะมีสภาพที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีอิทธิพลหรือโด่งดังในสังคมก็อาจจะได้อยู่ในแดนหนึ่งที่ค่อนข้างสบาย หรือบางคนก็ได้อยู่หน้าแดน ไม่ได้ใช้ชีวิตรวมกับนักโทษคนอื่น  นักโทษทั่วไปที่มีปัญหาด้านสุขภาพจะไปรักษาที่สถานพยาบาลในเรือนจำอย่างยากลำบาก เพราะจะมีการจัดคิว แต่ละวันไม่สามารถรักษาได้ครบทุกคน ส่วนโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะอยู่นอกเรือนจำ หากไม่ป่วยหนักจริงก็ไม่สามารถส่งตัวไปรักษาได้ ดังนั้น นักโทษที่ไม่มีอำนาจเงินหรืออิทธิพล จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยาก ส่วนผู้ที่มีอิทธิพลจะมีช่องทางการรักษาพยาบาลได้ง่ายกว่าหรือไม่นั้น ตนก็ไม่แน่ใจ 

ด้านนายนิวัติ แก้วล้วน อดีตเลขาธิการสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ประเทศไทยมีปัญหาในโครงสร้างระบบยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางในระบบงานสอบสวนที่มีการประเมินหลักประกันในทุกข้อหา ส่วนการทำงานของฝ่ายสอบสวนที่ส่วนมากจะส่งคดีต่ออัยการให้ฟ้องร้องต่อศาล เพราะเป็นขั้นตอนที่ง่ายกว่าไม่ฟ้อง ซึ่งต้องหาเอกสารหลักฐานมากเพื่อตอบคำถามว่าทำไมถึงไม่ฟ้อง และอีกปัญหาสำคัญของกฎหมายไทย เช่น ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต แต่กรมราชทัณฑ์ให้จำคุกเพียง 15 ปีแล้วนักโทษนั้นถูกปล่อยตัว  จึงเห็นว่าควรกำหนดโทษให้ชัดเจนกรณีโทษประหารชีวิตหรือติดคุกตลอดชีวิต  โดยให้กำหนดว่า ต้องติดคุกไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพราะปัจจุบันนักโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ได้ถูกจองจำสูงสุด 17-20 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายจรัญ กล่าวทิ้งท้ายในการสัมมนาว่า จะแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้ระบบการเมืองครอบงำกระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อการเมืองแบ่งฝักฝ่าย ก็ต้องสร้างบารมี ซึ่งหากแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ จะมีการถอดอำนาจการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นระบบดูแลกันเอง เพื่อไม่ให้อำนาจการเมืองแทรกแซง แต่อำนาจที่มากกว่าการเมือง ก็คืออำนาจเงิน ซึ่งทรงพลัง ซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะพบว่า ข้าราชการบางคนเติบโตด้วยการสนับสนุนของเจ้าพ่อหวย เจ้าพ่อการพนัน และเจ้าพ่อซ่อง.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

อุณหภูมิลดอีก 1-3 องศาฯ “อีสาน-เหนือ” อากาศเย็นถึงหนาว

กรมอุตุฯ รายงานไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงอีก 1-3 องศาฯ กับมีลมแรง อีสานและเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อากาศเย็น ภาคใต้ฝนเพิ่ม ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางเทศกาลปีใหม่ 2568

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางขาออกเทศกาลปีใหม่ 2568 ถนนทุกสาย และระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมด มีประชาชนทะลักเดินทางตั้งแต่เย็นวานนี้ (27 ธ.ค.) ภาพรวมเป็นอย่างไร พูดคุยกับนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม.