กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – กกร.คาดส่งออกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 9 จีดีพีโตร้อยละ 3.7-4.0 ส่วนปี 61 คาดส่งออกโตร้อยละ 6 และเศรษฐกิจไทยจะใกล้เคียงกับปีนี้ร้อยละ 4
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัวสูงกว่าคาด ประกอบกับ การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังสามารถรักษาแรงส่งของการขยายตัวที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 อาจจะขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบบนของประมาณการ กกร.ร้อยละ 3.7-4.0 โดยการส่งออกน่าจะขยายตัวสูงกว่ากรอบประมาณการเดิมร้อยละ 6.5-7.5 หลัง 10 เดือนแรกของปีขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.7 จึงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่การส่งออกปี 2560 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.0 ส่วนปี 2561 คาดว่าการเติบโตเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 4 และการส่งออกจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 6
ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน สะท้อนได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการเพิ่มเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยหรือเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต้นปี 2561 น่าจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะกระจายตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้า เบื้องต้น กกร.เห็นว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2560
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามที่สำคัญ คือ สถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ อาทิ ความคืบหน้าของร่างปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐ การสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงระหว่างทำเนียบขาวกับรัสเซีย การจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนี การเจรจากรณี BREXIT และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทให้ยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขาดแรงหนุนใหม่ ๆ ในระยะอันใกล้นี้ โดย กกร.มีความเป็นห่วงว่า เงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไปอาจจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป
ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน แตะ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน (แข็งค่าแล้วร้อยละ 9.7 จากปลายปีก่อน) เนื่องจากเงินดอลลาร์ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีของสหรัฐ รวมทั้งจากการไหลกลับเข้ามาของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งความเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขันและการประกอบการของผู้ส่งออกได้ ภาครัฐจึงควรดูแลให้ความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด โดย กกร.ให้ความสำคัญส่งเสริมเอสเอ็มอีประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมการให้ความรู้และการทดลองการนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมาใช้ให้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จึงอยากให้เอสเอ็มอีที่มีการส่งออกและนำเข้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กกร.เห็นว่าหลาย ๆ คนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน เพราะทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ คือ สานต่อนโยบายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้นำไปสู่ประเทศ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งนโยบายดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ได้แก่ การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน การเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนโครงการเน็ตประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจ การส่งออก และการท่องเที่ยวขยายตัวดีมาก แต่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดีเท่าที่ควร รัฐบาลจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากและมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย
ส่วนการร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง ฉบับแก้ไขจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะวันที่ 19 ธันวาคมนี้นั้น กกร.มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำร่างฉบับแก้ไขดังกล่าวศึกษาและให้ข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป. -สำนักข่าวไทย