ก.ยุติธรรม 4 ธ.ค. .-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินหน้าทุกคดีเร่งด่วน นัดประชุมติดตามงานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ขณะที่การปฏิรูปดีเอสไอคาดมีความชัดเจนก่อนปีใหม่นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ข้าราชการระดับสูงทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ถ่ายทอดสดไปยังสำนักงานยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อรับฟังนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงยุติธรรม โดยใช้เวลามอบนโยบายกว่า 2ชั่วโมง
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวภายหลังมอบนโยบาย ว่า กระทรวงยุติธรรมยังคงสานต่อทุกนโยบายที่ดำเนินการมา เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมเดินหน้าทุกคดีอย่างเร่งด่วน ทั้งการติดตามคดีสหกรณ์เครดินยูเนี่ยนคลองจั่น คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย และคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม เช่น กระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ กรณีการตรวจพิสูจน์การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คาดมีความชัดเจนภายใน 1เดือน โดยทุกคดีที่เร่งด่วน ได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามความคืบหน้าสัปดาห์ละ 2ครั้ง คือทุกวันอังคาร และวันศุกร์
พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลรายละเอียด คาดว่าก่อนปีใหม่นี้คงมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเรื่องรูปแบบ การปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างไรไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ซึ่งยืนยันว่าดีเอสไอยังคงเป็นหน่วยงานที่จำเป็นในการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน และภายในสัปดาห์จะแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
สำหรับกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไว้ 6 ด้าน คือ 1. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มุ่งลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด 2. การสร้างความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม แก้ไขการกระทำความผิดซ้ำ เข้าสู่กระบวนการดูแลและฟื้นฟู 3. การอำนวยความยุติธรรมโดยการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” 4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ 5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมความมั่นคง บรูณาการทุกหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ให้ทำงานสอดคล้องกัน และ 6. การเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สร้างภาวะเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย